เอแบคโพลล์เผยต่างชาติพอใจท่องเที่ยวในไทย มองการเมืองเริ่มมีเสถียรภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 31, 2013 10:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง เจาะลึกประเทศไทยในสายตาชาวต่างชาติ กรณีศึกษาตัวอย่างชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ในการเดินทางเข้ามาประเทศไทย 5 อันดับแรก พบว่า อันดับแรก 56.2% กลุ่มตัวอย่างระบุเดินทางเข้ามาเพื่อการท่องเที่ยว อันดับสอง 32.3% ระบุเดินทางเข้ามาเพื่อการทำธุรกิจ อันดับสาม 21.7% ระบุเดินทางเข้ามาลงทุน อันดับสี่ 17.2% ระบุมาเข้าร่วมการประชุมหรือนัดหมาย และอันดับห้า 13.9% ระบุเดินทางมาเยี่ยมเพื่อนหรือญาติ ตามลำดับ

เมื่อสอบถามถึงความพึงพอใจในด้านต่างๆ หลังจากเดินทางเข้ามาในประเทศไทย พบว่า 5 อันดับแรกที่กลุ่มตัวอย่างพึงพอใจ ได้แก่ ความมีน้ำใจ ความเป็นมิตร ช่วยเหลือเกื้อกูลของคนไทย มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 7.11 คะแนน, รองลงมา ได้แก่ วัฒนธรรมไทย 6.99 คะแนน, สถานที่ท่องเที่ยว 6.89 คะแนน, สิ่งแวดล้อม 6.76 คะแนน และการเข้าถึงแรงงาน 6.47 คะแนน ตามลำดับ

ด้านประเด็นทางการเมืองพบว่ามีคะแนนอยู่เป็นสองอันดับท้าย ได้แก่ ความโปร่งใส 5.92 และสถานการณ์ทางการเมืองในภาพรวม 5.77 คะแนน

อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยส่วนใหญ่หรือ 95.3% พอใจมากถึงมากที่สุด ในขณะที่3.1% พอใจน้อยถึงไม่พอใจเลย และมีเพียง 1.6% พอใจระดับปานกลาง นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างเกือบร้อยละร้อยหรือ 97.1% ระบุจะเดินทางกลับมาประเทศไทยอีก ขณะที่ 96.7% ระบุจะแนะนำคนอื่นในประเทศของตนเองให้เดินทางมาประเทศไทยอีกด้วย

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างเกี่ยวกับมุมมองต่อสถานการณ์ทางการเมืองไทยและแนวทางต่อการปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาทางการเมือง พบว่า กลุ่มตัวอย่างกว่าหนึ่งในสามหรือ 37.4% ระบุควรยึดมั่นและเคารพในหลักประชาธิปไตย รองลงมา 28.6% ระบุการสร้างความปรองดองและสามัคคีกันจะสามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาการเมืองไทยได้, 17.6% ระบุสร้างความโปร่งใสและลดการทุจริตคอรัปชั่น, 8.8% ระบุเปลี่ยนรัฐบาล และ 7.6% ระบุการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามลำดับ

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยด้านนโยบายสาธารณะเพื่อกิจการอาเซียน กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีว่าชาวต่างชาติพอใจต่อประเทศไทยหลังจากได้มาสัมผัสเมืองไทยในระดับมากถึงมากที่สุดเกือบร้อยละร้อย โดยพอใจต่อความมีน้ำใจ ความเป็นมิตร ความช่วยเหลือเกื้อกูลของคนไทยส่วนใหญ่ทั้งประเทศที่ชาวต่างชาติได้เดินทางมาพบเห็นด้วยตัวของพวกเขาเอง จึงเป็นเอกลักษณ์ที่ดีที่คนไทยทั้งประเทศต้องช่วยกันรักษาไว้

อย่างไรก็ตาม คณะผู้วิจัยเห็นว่ายังไม่เพียงพอที่จะประกันความพึงพอใจเอาไว้ให้นานได้เพราะคนไทยส่วนใหญ่รู้ดีว่า สังคมไทยยังไม่มีระบบ (System) ที่ดีเพียงพอ มีปัญหาแอบซ่อนไว้จำนวนมากทั้งในเรื่อง ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การสื่อสารภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะภาษาอังกฤษและภาษาจีน กับชาวต่างชาติยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ และความไม่ใส่ใจต่อการเข้าขอความช่วยเหลือ ดังนั้นคำว่า “ระบบ" ที่ดีต้องเริ่มจากการแต่งตั้งคนดีและเก่งเข้าทำงาน และการมีระบบประเมินผลการทำงานที่ได้มาตรฐานสากลไม่ใช่ใช้พรรคพวกเส้นสายเข้าไปทำงานและประเมินกันเองภายใน

“นอกจากนี้ สิ่งหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การปกครองแบบประชาธิปไตยที่ชาวต่างชาติให้ข้อเสนอแนะสำหรับประเทศไทยเป็นอันดับแรกที่ให้คนไทยยึดมั่นไว้ในการปกครองเพราะเป็นระบบที่ทำให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐถูกตรวจสอบได้โดยประชาชนมากกว่าการปกครองแบบอื่น และผลสำรวจครั้งนี้ยังชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมีสัญญาณที่ดีอีกประการหนึ่งคือ ชาวต่างชาติมองว่า สถานการณ์การเมืองของประเทศอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจและถือว่า “สอบผ่าน" จากที่เคย “สอบตก" ในการสำรวจหลายครั้งที่ผ่านมาทั้งจากประชาชนคนไทยเองและชาวต่างชาติ จนอาจกล่าวได้ว่า ในห้วงเวลาปัจจุบันนี้ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต่างมองเห็นตรงกันว่า การเมืองเริ่มมีเสถียรภาพ จึงขอให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะฝ่ายการเมืองช่วยกันรักษาไว้ เนื่องจาก การเมืองเป็นเรื่อง “จำเป็น"ในระบอบประชาธิปไตยและการเมืองต้องทำหน้าที่ลดปัญหาความขัดแย้งในหมู่ประชาชนไม่ใช่เป็นตัวสร้างปัญหาความขัดแย้งขึ้นเสียเอง" ดร.นพดล กล่าว

อนึ่ง เอแบคโพลล์ทำการสำรวจความคิดเห็นดังกล่าวจากกลุ่มตัวอย่างจำนวนทั้งสิ้น 969 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 15 — 30 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา โดยตัวอย่าง 53.1% เป็นชาย 46.9% เป็นหญิง, 41.2% ระบุเป็นชาวเอเชีย, 32.2% ระบุเป็นชาวยุโรป, 7.5% ระบุเป็นชาวอเมริกัน และอีก 19.1% ระบุสัญชาติอื่นๆเช่น เม็กซิกัน แคนาดา ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา เป็นต้น

กลุ่มตัวอย่าง 19.8% สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี, 57.4% สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ในขณะที่ 22.8% สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ