ม.หอการค้าไทยเผยดัชนีคอร์รัปชันไทยธ.ค.55 ดีขึ้น แต่แนวโน้มเพิ่มจากงบโครงการน้ำ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 31, 2013 16:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทยในเดือนธ.ค.55 ว่า ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยโดยรวมอยู่ที่ 3.9 คะแนน จากเต็ม 10 คะแนน เพิ่มขึ้นจาก 3.5 คะแนนในการสำรวจครั้งก่อนเมื่อเดือนมิ.ย.55 ส่วนดัชนีสถานการณ์ในปัจจุบัน อยู่ที่ 3.8 คะแนน เพิ่มขึ้นจาก 3.2 คะแนน และดัชนีแนวโน้มสถานการณ์ อยู่ที่ 4.2 คะแนน เพิ่มขึ้นจาก 3.7 คะแนน

อนึ่ง 0 คะแนนหมายถึง มีการคอร์รัปชันรุนแรงที่สุด และ 10 คะแนนหมายถึง ไม่มีการคอร์รัปชัน

ทั้งนี้ หอการค้าไทยได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ ทั้งประชาชน ผู้ประกอบการ/ภาคเอกชน และข้าราชการ/ภาครัฐ รวมทั้งสิ้น 2,400 ตัวอย่าง

นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจกับภาครัฐมากถึง 76.9% ระบุว่า ต้องจ่ายเงินเพิ่มพิเศษแก่ข้าราชการ/นักการเมืองที่ทุจริตเพื่อให้ได้สัญญา มีเพียง 7% เท่านั้นที่ไม่จ่าย ส่วนอีก 15.4% ตอบไม่ทราบ โดยกลุ่มที่ต้องจ่ายเงินพิเศษนั้น ส่วนใหญ่ถึง 38.5% ระบุปีนี้จ่ายมากกว่า 25% ของรายรับ ซึ่งลดลงจากปี 55 ที่มีสัดส่วนผู้ตอบถึง 39.7% ที่จ่ายมากกว่า 25%

อย่างไรก็ตาม เมื่อประเมินวงเงินคอร์รัปชั่นจากงบประมาณรายจ่าย ค่าครุภัณฑ์ ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงงบลงทุนรัฐวิสาหกิจในปี 56 ที่มีเม็ดเงินรวม 942,608 ล้านบาทแล้ว หากผู้ประกอบการที่ระบุว่าจ่ายเงินพิเศษที่ 25% จะคิดเป็นเม็ดเงินที่ประเทศต้องเสียหายจากการคอร์รัปชั่นสูงถึง 235,652 ล้านบาท คิดเป็น 9.82% ของงบประมาณรายจ่ายที่ 2.40 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 1.88% ต่อจีดีพี ที่มีมูลค่า 12.544 ล้านล้านบาท

แต่หากในปีนี้ ผู้ประกอบการต้องจ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 30% จะคิดเป็นเม็ดเงินจากการคอร์รัปชันสูงถึง 282,782.4 ล้านบาท หรือคิดเป็น 11.78% ของงบประมาณรายจ่าย และ 2.25% ต่อจีดีพี และหากต้องจ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 35% จะคิดเป็นเม็ดเงินจากการคอร์รัปชันที่ 329,912.8 ล้านบาท หรือคิดเป็น 13.75% ของงบประมาณรายจ่าย และคิดเป็น 2.63% ต่อจีดีพี

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ความรุนแรงของปัญหาคอร์รัปชันยังมีอยู่มากและน่าจะรุนแรงมากขึ้นอีก โดยเฉพาะในช่วงที่รัฐบาลกำลังจะใช้งบบริหารจัดการน้ำ 350,000 ล้านบาท และปรับโครงสร้างอนาคตประเทศไทย 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งถ้ารัฐบาลดำเนินการอย่างไม่โปร่งใสก็อาจเกิดการคอร์รัปชั่นได้มาก แต่จากผลสำรวจพบว่าการตระหนักรู้ถึงปัญหาคอร์รัปชั่น การสร้างจิตสำนึก และความพยายามในการแก้ปัญหาดีขึ้น ซึ่งเชื่อว่าในอีก 5-10 ปีปัญหานี้น่าจะเบาบางลงได้

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ฯ จะร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) จัดทำดัชนีวัดความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อใช้ประเมินความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐอย่างเป็นระบบ โดยคาดจะเริ่มจัดทำได้ตั้งแต่ปี 57


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ