SCBEIC ชี้การใช้จ่ายภาครัฐ-ครัวเรือนดันเศรษฐกิจไทย Q1/56 ขยายตัว 4.9%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 31, 2013 16:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCBEIC) ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจของไทยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้มีศักยภาพเพียงพอที่จะขยายตัวได้ 4.9% โดยมีการใช้จ่ายภาครัฐและภาคครัวเรือนของไทยเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ส่วนการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวได้ในระดับต่ำ ขณะที่เศรษฐกิจโลกมีเสถียรภาพมากขึ้นเนื่องจากปัญหาการคลังของสหรัฐฯ และวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขี้น
"การขยายตัวทางเศรษฐกิจมาจากการใช้จ่ายในประเทศเป็นหลัก ในส่วนของภาคครัวเรือนนั้น นโยบายการคืนภาษีรถคันแรกของรัฐบาลจะยังสนับสนุนให้การบริโภคขยายตัวได้ดี โดยคาดว่าจะมีจำนวนรถยนต์ประมาณ 600,000 คันที่จะมีการส่งมอบในช่วงครึ่งปีแรกของปี อีกทั้งมีการทยอยคืนเงินภาษีรถยนต์ให้กับผู้ขอใช้สิทธิประมาณ 40,000-50,000 ล้านบาทที่บางส่วนจะนำไปสู่การบริโภค ในส่วนของภาครัฐนั้น การลงทุนทั้งในและนอกงบประมาณรวมถึงรัฐวิสาหกิจ คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 800,000 ล้านบาทหรือมากกว่าปีก่อนราว 18% โดยปัจจัยหลักจะมาจากการลงทุนเพื่อการบริหารจัดการน้ำ" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

สำหรับการลงทุนของภาคเอกชนนั้นน่าจะได้รับอานิสงส์จากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศหรือ FDI ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะจากญี่ปุ่น ซึ่ง SCBEIC ประเมินว่า FDI ในไทยจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 4 แสนล้านบาทในปีนี้ โดยปัจจัยสำคัญที่จะทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นลงทุนนอกประเทศมากขึ้นคือการขาดแคลนประชากรวัยทำงานในญี่ปุ่น และค่าเงินเยนที่ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก อีกทั้งข้อพิพาทระหว่างญี่ปุ่นกับจีนและค่าแรงของจีนที่เพิ่มสูงขึ้น จะทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นชะลอการลงทุนในจีนและขยายโอกาสโดยเพิ่มการลงทุนในอาเซียนมากขึ้น โดยไทยยังคงเป็นจุดหมายการลงทุนหลักในอาเซียนของนักลงทุนญี่ปุ่นในปัจจุบัน

ส่วนการส่งออกปีนี้จะขยายตัวได้ในระดับต่ำราว 7.5% เนื่องจากกำลังซื้อจากประเทศคู่ค้าหลักยังมีแนวโน้มชะลอตัวในช่วงครึ่งปีแรก โดยสินค้าที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นชัดเจนจากปีก่อนหน้าได้แก่ สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมในกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์น่าจะมีการปรับตัวดีขึ้นบ้างแต่อาจใช้พอสมควรในการปรับตัว ดังนั้นธุรกิจจึงควรหันมาให้ความสนใจกับตลาดเพื่อนบ้านมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) เนื่องจากเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงโดยในช่วงปี 2006-2011 การส่งออกของไทยไปกลุ่ม CLMV ขยายตัวเฉลี่ย 20% ต่อปี ส่วนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทนั้นจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะกระทบกับการส่งออกหากเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค เหมือนในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกของเดือนมกราคม

ส่วนของภาคการเงินนั้นจะมีสภาพคล่องจำนวนมากเข้าสู่ตลาดการเงินของโลกจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก ซึ่งมีแนวโน้มว่าสภาพคล่องจำนวนหนึ่งจะไหลเข้ามาในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่รวมถึงประเทศไทย และอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินหากอัตราแลกเปลี่ยนมีการปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ทาง SCBEIC คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะมีมาตรการผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้ายเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนเงินทุนออกไปนอกต่างประเทศมากขึ้น และแทรกแซงค่าเงินบาท เพื่อลดความผันผวนและรักษาระดับค่าเงินบาทไม่ให้เคลื่อนไหวต่างจากค่าเงินต่างๆในภูมิภาคมากนัก รวมไปถึงอาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อลดส่วนต่างอัตราผลตอบแทนในและนอกประเทศ ซึ่ง ธปท.สามารถทำได้เนื่องจากอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวล โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้น่าจะอยู่ที่ราว 3% ทั้งนี้ SCBEIC ประเมินว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มจะแข็งค่าไปอยู่ที่ระดับ 29.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 56

ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และญี่ปุ่น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีเงินทุนจำนวนมากที่จะเข้ามาแสวงหาผลตอบแทนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีแนวโน้มทำให้อัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้น และในระยะสั้นนั้นเงินทุนเคลื่อนย้ายสามารถส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนได้

ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัวในครึ่งแรกของปีนี้ ก่อนจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้ยังคงถูกชี้นำโดยความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายการคลัง ซึ่งสหรัฐฯ จะต้องพบกับแรงฉุดจากมาตรการขึ้นภาษี และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการตัดลดค่าใช้จ่ายภาครัฐในช่วงต้นปี ขณะเดียวกันนโยบายผ่อนคลายทางการเงินที่มีทั้งการคงดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำที่ 0-0.25% และมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(Quantitative Easing:QE) จะช่วยชดเชยแรงฉุดดังกล่าว

"นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2013 จะเติบโตประมาณ 1.5-2% และอัตราการว่างงานจะอยู่ที่ระดับ 7.5-8% นอกจากนี้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2013 ยังต้องจับตาดูการเจรจาเรื่องนโยบายการคลังในส่วนของการตัดลดค่าใช้จ่ายและการขยายเพดานหนี้ แต่คาดว่าผลกระทบต่อรายจ่ายของรัฐในปี 2013 จะมีไม่มากนัก" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ส่วนเศรษฐกิจยุโรปนั้นประเมินว่ายังอ่อนแอและจะยังอยู่ในภาวะถดถอยในช่วงครึ่งแรกของปี เนื่องมาจากการหดตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ แต่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้นบ้าง ทั้งจากดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพทางการเงินที่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการ Outright Monetary Transactions(OMTs) จึงมีความเป็นไปได้ที่ยุโรปจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงปลายปี โดยรวม SCBEIC คาดว่าเศรษฐกิจยุโรปจะหดตัวประมาณ 0.3% ในปีนี้

ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นนั้นประเมินว่าปีนี้น่าจะขยายตัวราว 1.5% จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐโดยเฉพาะในส่วนของการใช้จ่ายผ่านโครงการลงทุนต่างๆ และการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ แต่มีความเสี่ยงในเรื่องของความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณอาจจะทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ได้

สำหรับเศรษฐกิจจีนปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี หลังจากชะลอตัว 7 ไตรมาสติดต่อกัน โดยทั้งมูลค่าการค้าปลีกในประเทศและยอดการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้น สะท้อนถึงการฟื้นตัวของกำลังซื้อทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ นอกจากนี้การผลัดเปลี่ยนผู้นำจีนชุดใหม่ ซึ่งจะเข้าดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเดือน มี.ค.นี้น่าจะทำให้มีมาตรการสนับสนุนภาคเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีแนวโน้มจะขยายตัวขึ้นมากในปีนี้ตามวัฏจักรการเปลี่ยนผ่านในพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยเศรษฐกิจจีนน่าจะเติบโตได้ที่ 8.1% ในปีนี้

ส่วนเศรษฐกิจอาเซียนยังคงเติบโตได้ดีจากปัจจัยภายในประเทศ โดยมีการลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวในปีนี้ต่อเนื่องถึงปี 2014 จากปัจจัยทางการเมืองอันเกี่ยวเนื่องกับการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมีขึ้นทั้งในมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียในหนึ่งปีข้างหน้า นอกจากนี้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศหรือ FDI ในอาเซียนยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมรองรับโอกาสจาก AEC ปัจจัยสนับสนุนเหล่านี้จะสามารถชดเชยผลกระทบด้านการส่งออกไปยังตลาดหลัก และจะส่งผลให้ตลาดในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงจีน มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น จากการจ้างงานและเศรษฐกิจในภูมิภาคที่ยังขยายตัวได้ดี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ