(เพิ่มเติม) ผู้ว่าฯธปท.เผยการพิจารณาดอกเบี้ยนโยบายขึ้นกับกนง.-ข้อมูลศก.รอบด้าน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 31, 2013 16:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุถึงข้อเสนอของนายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานธปท. ที่เสนอลดดอกเบี้ยและออกมาตรการสกัดเงินทุนไหลเข้าที่ไม่ให้กระทบกลไกตลาด และไม่ให้เงินบาทแข็งค่าจนทำให้ภาวะเศรษฐกิจวูบว่า การพิจารณาเรื่องดอกเบี้ยนโยบายเป็นตัวแปรหนึ่งเพื่อรักษาสมดุลของเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพการเงินในระยะยาว

โดยดอกเบี้ยของไทยขณะนี้คิดว่าสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ยังขยายตัวได้ดี การจ้างงานสูง การว่างงานต่ำ การอุปโภคบริโภคและการลงทุนขยายตัวได้ดี

ทั้งนี้ การพิจารณาดอกเบี้ยนโยบายนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะใช้ข้อมูลล่าสุดมาประกอบการตัดสินใจการดำเนินนโยบายดอกเบี้ย และมีการติดตามข้อมูลอยู่ตลอดเวลา

"แนวคิดที่เสนอให้ลดดอกเบี้ยเพื่อสกัดกั้นเงินทุนไหลเข้า รวมถึงความคิดเห็นต่างๆ ถือเป็นข้อมูลหนึ่งที่ กนง.จะต้องนำมาพิจารณา ซึ่งมีความเป็นไปได้ทั้งหมดทุกแนวทาง แต่ขึ้นอยู่กับข้อมูลล่าสุดที่จะนำมาประเมิน โดยการไหลเข้าของเงินทุนนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยเฉพาะพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวได้ดีกว่าสหรัฐฯ ขณะเดียวกันการลดดอกเบี้ยก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้เกิดปัญหาฟองสบู่แตก เพราะการประเมินราคาสินทรัพย์ เช่น หุ้น และอสังหาริมทรัพย์ในยามที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ อาจทำให้คนเข้าใจผิดว่าสินทรัพย์มีมูลค่าสูง คนก็ทุ่มเงินเข้าไปมากขึ้น แต่พอถึงเวลาต้องปรับดอกเบี้ยให้สะท้อนความเป็นจริง ฟองสบู่ก็อาจแตกได้" นายประสารกล่าว

นอกจากนี้ ยอมรับว่า หากมีการปรับลดดอกเบี้ยลง อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาหนี้สินครัวเรือนเพิ่มสูงมากเกินตัว หลังจากเห็นข้อมูลการขยายตัวของสินเชื่อไตรมาส 3/2555 ขยายตัวแบบก้าวกระโดดมากกว่า 75% ของจีดีพี จากปี 2552 อยู่ที่ประมาณ 58% ซึ่ง ธปท.เห็นข้อมูลบางส่วนแล้วเริ่มรู้สึกว่ามีการก่อหนี้มากจนอาจกระทบต่อการชำระหนี้ และอาจเป็นจุดเปราะบางต่อการเติบโตของเติบโตของเศรษฐกิจ

นายประสาร กล่าวด้วยว่า ส่วนเงินที่เข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นจำนวนมากนั้น ไม่ได้มาจากส่วนต่างดอกเบี้ย แต่มาจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนออกมาดี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากดอกเบี้ยที่ต่ำทำให้ต้นทุนบริษัทลดลง

อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการต้องใช้เครื่องมือที่เกี่ยวข้องหลายด้าน อาจเลือกใช้ดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ก็ได้ ต้องดูข้อมูลและน้ำหนักในการเลือกใช้ข้อมูลให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ