โดยดอกเบี้ยของไทยขณะนี้คิดว่าสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ยังขยายตัวได้ดี การจ้างงานสูง การว่างงานต่ำ การอุปโภคบริโภคและการลงทุนขยายตัวได้ดี
ทั้งนี้ การพิจารณาดอกเบี้ยนโยบายนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะใช้ข้อมูลล่าสุดมาประกอบการตัดสินใจการดำเนินนโยบายดอกเบี้ย และมีการติดตามข้อมูลอยู่ตลอดเวลา
"แนวคิดที่เสนอให้ลดดอกเบี้ยเพื่อสกัดกั้นเงินทุนไหลเข้า รวมถึงความคิดเห็นต่างๆ ถือเป็นข้อมูลหนึ่งที่ กนง.จะต้องนำมาพิจารณา ซึ่งมีความเป็นไปได้ทั้งหมดทุกแนวทาง แต่ขึ้นอยู่กับข้อมูลล่าสุดที่จะนำมาประเมิน โดยการไหลเข้าของเงินทุนนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยเฉพาะพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวได้ดีกว่าสหรัฐฯ ขณะเดียวกันการลดดอกเบี้ยก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้เกิดปัญหาฟองสบู่แตก เพราะการประเมินราคาสินทรัพย์ เช่น หุ้น และอสังหาริมทรัพย์ในยามที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ อาจทำให้คนเข้าใจผิดว่าสินทรัพย์มีมูลค่าสูง คนก็ทุ่มเงินเข้าไปมากขึ้น แต่พอถึงเวลาต้องปรับดอกเบี้ยให้สะท้อนความเป็นจริง ฟองสบู่ก็อาจแตกได้" นายประสาร กล่าว
นอกจากนี้ ยอมรับว่า หากมีการปรับลดดอกเบี้ยลงอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาหนี้สินครัวเรือนเพิ่มสูงมากเกินตัว หลังจากเห็นข้อมูลการขยายตัวของสินเชื่อไตรมาส 3/2555 ขยายตัวแบบก้าวกระโดดมากกว่า 75% ของจีดีพี จากปี 2552 อยู่ที่ประมาณ 58% ซึ่ง ธปท.เห็นข้อมูลบางส่วนแล้วเริ่มรู้สึกว่ามีการก่อหนี้มากจนอาจกระทบต่อการชำระหนี้ และอาจเป็นจุดเปราะบางต่อการเติบโตของเติบโตของเศรษฐกิจ
นายประสาร กล่าวด้วยว่า ส่วนเงินที่เข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นจำนวนมากนั้นไม่ได้มาจากส่วนต่างดอกเบี้ย แต่มาจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนออกมาดี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากดอกเบี้ยที่ต่ำทำให้ต้นทุนบริษัทลดลง
อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการต้องใช้เครื่องมือที่เกี่ยวข้องหลายด้าน อาจเลือกใช้ดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ก็ได้ ต้องดูข้อมูลและน้ำหนักในการเลือกใช้ข้อมูลให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการ ธปท.และ รมว.คลัง กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยไม่ได้ช่วยหยุดยั้งการไหลเข้าของเงินทุน เพราะส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่ประมาณ 3% ก็เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่เงินทุนไหลเข้าเกิดจากการกู้เงินจากแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำมาลงทุนในประเทศที่มีผลตอบแทนสูง(Carry Trade) ทั่วโลก นักลงทุนจึงได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน บวกกับกำไรจากส่วนต่างดอกเบี้ย
"แม้นายวีรพงษ์จะดำรงตำแหน่งประธาน ธปท.แต่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งอยู่ใน กนง.จึงไม่เห็นข้อมูลอย่างรอบด้าน และมองว่าที่ผ่านมา กนง.ก็ทำหน้าที่ดีอยู่แล้ว และทำได้ดีกว่าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลโดยตลอด ซึ่ง กนง.มีอิสระ จะขึ้นหรือลงดอกเบี้ยไม่ได้อยู่ที่ใครสั่ง แต่ต้องพิจารณาจากข้อมูลเศรษฐกิจเป็นหลัก ส่วนมาตรการที่จะนำมาใช้ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายนั้น หากมีมาตรการรุนแรงอาจส่งผลร้ายมากกว่าผลดี เพราะนักลงทุนจะโยกเงินออกทันที ดังนั้นจะทำอะไรจะต้องค่อยเป็นค่อยไป" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว