ศูนย์วิจัยกสิกรฯคาด GDP Q1/56 โต 5.3%,ทั้งปีโต 4.5-5.5%แต่จับตาบาทแข็ง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 1, 2013 11:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่า โมเมนตัมการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยน่าจะมีภาพที่ดีต่อเนื่องในช่วงต้นปี 56 โดยคาดการณ์ในเบื้องต้นว่า อัตราการขยายตัวของจีดีพีประจำไตรมาส 1/56 จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5.3 (YoY) ท่ามกลางบรรยากาศด้านบวกในต่างประเทศที่เริ่มปรากฎขึ้นหลังความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยจากปัญหาการคลังในสหรัฐฯ ลดลงไปอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับภาพรวมทั้งปี 56 นั้น แม้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จะยังคงกรอบประมาณการอัตราการเติบโตของจีดีพีไว้ที่ร้อยละ 4.5-5.5 แต่ก็คงต้องจับตาผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตและการแข็งค่าของค่าเงินบาทที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี ซึ่งอาจเป็นตัวแปรที่เพิ่มแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของแนวโน้มภาคธุรกิจและการส่งออกของไทย

แต่หากภาครัฐผลักดันมาตรการลดผลกระทบดังกล่าวที่มีประสิทธิภาพและทันท่วงที พร้อมๆ กับสามารถเร่งรัดให้การใช้จ่ายเม็ดเงินจากงบประมาณ โครงการบริหารจัดการน้ำ และลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้โดยเร็ว ก็น่าจะช่วยเสริมสร้างให้แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภายในประเทศ ยังคงมีบทบาทในการช่วยประคองทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 56 ให้ขยายตัวได้ใกล้เคียงร้อยละ 5.0 ตามประมาณการกรณีพื้นฐานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย

สำหรับทิศทางการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทย โดยเฉพาะในส่วนที่เชื่อมโยงกับคำสั่งซื้อต่างประเทศ จะทยอยฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงต้นปี 2556 เนื่องจากความเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2556 ทยอยลดระดับลง หลังสหรัฐฯ สามารถแก้โจทย์หน้าผาทางการคลังยกแรกไปได้ และสัญญาณจากเศรษฐกิจจีนที่เป็นคู่ค้าหลักของไทยยังคงมีทิศทางที่สดใส

อนึ่ง จากตัวเลขประกาศของกระทรวงพาณิชย์ ไทยขาดดุลการค้าในเดือนธ.ค. 55 สูงถึง 2.37 พันล้านดอลลาร์ฯ จากการส่งออกที่ชะลอลงในเดือนธ.ค. 55 ซึ่งต่อเนื่องจากยอดขาดดุลที่ 1.454 พันล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนพ.ย.55 อนึ่ง แม้ว่าข้อมูลดุลการค้าตามนิยามของธปท.จะมีรายละเอียดของการบันทึกรายการลงบัญชีที่แตกต่างกันออกไป แต่สถานะในภาพรวมก็สะท้อนทิศทางที่สอดคล้องกันว่า ดุลการค้าไทยเกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 0.3 พันล้านดอลลาร์ฯ เทียบกับที่เกินดุล 0.6 พันล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนพ.ย.55

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สถานการณ์ที่อ่อนแอของดุลการค้าไทยจะเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไปในช่วงหลายเดือนข้างหน้า เพราะแม้การส่งออกจะเริ่มกลับมามีอัตราการขยายตัว แต่คงต้องยอมรับว่า การเพิ่มขึ้นของมูลค่าของการส่งออก อาจมีทิศทางที่ค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ ในช่วงต้นปี 56 ยังเป็นช่วงที่สถานการณ์ในภาคการส่งออกของไทย อาจต้องรับมือกับหลายบททดสอบพร้อมๆ กัน ทั้งโจทย์ในด้านแรงกดดันต่อต้นทุนการผลิต รวมถึงทิศทางอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลกระทบโดยตรงต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกของไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ