คกก.ช่วยเหลือ SME ตั้งอนุกรรมการ 2 ชุด รวบรวมข้อมูล-แนะแนวทางแก้ไข

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 1, 2013 12:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมา 2 ชุด ประกอบไปด้วยชุดที่ 1 คณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการรวบรวมข้อมูลปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยทำหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูล ติดต่อประสานงานและติดตามผลการดำเนินการ

ส่วนชุดที่ 2 คณะอนุกรรมการวิเคราะห์ปัญหาและเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาประกอบไปด้วยตัวแทนจากทางภาครัฐและเอกชน ทำหน้าที่วิเคราะห์ปัญหาและเสนอแนวทางแก้ไขรวบรวมรายงานต่อนายกรัฐมนตรี และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังเพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือต่อไป

นอกจากนี้ ได้มีการเปิดช่องทางให้ผู้ประกอบการสามารถส่งปัญหาร้องเรียนและขอความช่วยเหลือผ่านหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซด์ www.sme1111.opm.go.th หรือ ทางโทรศัพท์เบอร์ 1111 กด 22 หรือสามารถส่งข้อมูลโดยตรงมายังสำนักปลัดสำนักนายกรัฐตรีผ่านทางศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งสามารถส่งข้อมูลได้ตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ.นี้

ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัด มอบหมายให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัด พาณิชย์จังหวัด และอุตสาหกรรมจังหวัดลงไปหาข้อมูลจากโรงงานและทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนด้วย และน่าจะเริ่มสามารถเริ่มดำเนินการได้ปลายสัปดาห์หน้า ซึ่งจากข้อมูล ณ ปัจจุบันมีการแจ้งข้อมูลความเดือนร้อนของผู้ประกอบการน้อยมาก โดยข้อมูลจากกระทรวงแรงงานมีอยู่ 74 ราย จากภาคเอกชนมีอยู่ 60 กว่าราย

ด้านนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ กล่าวภายหลังเข้าร่วมประชุมในวันนี้ว่า เบื้องต้นได้ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายงานผลการดำเนินงานตามมาตราการที่ได้ประกาศไปแล้วก่อนหน้า 20 มาตรการ เพื่อให้ที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์ร่วมกัน

จากนั้นที่ประชุมจะให้มีการจัดตั้งศูนย์รับเรื่องขอความช่วยเหลือจากผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ภายใต้การดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเตรียมการช่วยเหลือ โดยจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาแนวทางช่วยเหลือแต่ละรายตามความต้องการที่แตกต่างกันต่อไป ซึ่งจะทำให้การทำงานนั้นมีความละเอียดมากขึ้น นอกจากนี้จะมีการตรวจสอบเอสเอ็มอีเป้าหมายที่คาดว่าจะได้รับความเดือดร้อนด้วย

ในระดับภูมิภาคจะมีการดำเนินการผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด โดยให้สภาอุตสาหกรรมจังหวัด และหอการค้าจังหวัด เป็นผู้รับเรื่องขอความช่วยเหลือ โดยจะให้เอสเอ็มอีขึ้นทะเบียนพร้อมกับสิ่งที่ต้องการความช่วยเหลือ หากเป็นความช่วยเหลือที่ต้องการนอกเหนือจาก 20 มาตรการ จะพิจารณากำหนดมาตรการช่วยเหลือเพิ่มตามความจำเป็นต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ