ซิตี้แบงก์มองศก.ไทยแกร่งยากเลี่ยงบาทแข็ง คาดอาเซียนฟื้นตัวอย่างสมดุลปีนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 1, 2013 13:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายผยง ศรีวณิช Managing Director, Head of Global Markets & Country Treasurer ธนาคารซิตี้แบงก์ กล่าวเสริมว่า ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยยังคงมีความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากการปรับเปลี่ยนในเชิงโครงสร้างของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ให้มี ประสิทธิภาพ คุณภาพ และมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นฐานที่ทำให้ประเทศมีความยืดหยุ่นในการเลือกใช้นโยบาย ทั้งนโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง ท่ามกลางปัจจัยความไม่สมดุลและความเสี่ยงต่างๆ จากภายนอกประเทศ

ทางธนาคารฯ มองว่า เศรษฐกิจในปีนี้น่าจะยังคงมีพลังในการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เราจะเห็นค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องมีการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ไปพร้อมๆ กับการปรับตัวเชิงกลยุทธ์ในสถานการณ์ที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น เพื่อให้เป็นประโยชน์กับธุรกิจโดยรวม

ทั้งนี้ ซิตี้แบงก์มองว่า ขณะที่อุปสงค์ในประเทศเป็นปัจจัยหลักในการอยู่รอดของเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2555 ที่ผ่านมา การค่อยๆ ฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในครึ่งหลังของปี 2556 มองว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนแก่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเปิด เช่น สิงคโปร์ มาเลเซียและไทย โดยประมาณการอัตราการเจริญเติบโตของเศรฐกิจของกลุ่มอาเซียน 5 ประเทศ (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย สิงคโปร์และฟิลิปปินส์) ในปี 56 ไว้ที่ 5% ก่อนจะเพิ่มเป็น 5.3% ในปี 57 ด้วยปัจจัยการเติบโตจากเศรษฐกิจในประเทศ ปูทางสู่การฟื้นตัวของการส่งออกในครึ่งหลังของปีนี้ตลอดถึงปีหน้า

อัตราการเจริญเติบโตของประเทศไทยคาดหมายจะอยู่ที่ระดับ 4.5% หลังการปรับเป้าหมายจาก 4.4 % ด้วยการเติบโตของการลงทุนเป็นแรงหนุนให้เศรษฐกิจไทยกลับคืนสู่ระดับการเติบโตในช่วง 4-5% หลังการฟื้นฟูหลังน้ำท่วมค่อยๆ ลดปริมาณลง

ในงานสัมมนาทิศทางเศรษฐกิจ ซึ่งฝ่ายโกลบอลมาร์เก็ต ธนาคารซิตี้แบงก์จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้แก่ลูกค้าสถาบัน มิสเตอร์ไว เชง คิท หัวหน้าเศรษฐกรกลุ่มอาเซียน ซิตี้ นำเสนอปัจจัยมหภาคหลัก 5 ด้านที่จะผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจอาเซียนในปีนี้ ดังนี้ 1. การพึ่งพิงการเติบโตในประเทศยังคงอยู่ต่อไป และค่อยๆ ฟื้นตัวเข้าสู่วงจรปกติในครึ่งหลังของปี

อุปสงค์ภายในประเทศยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในครึ่งแรกของปีนี้ โดยเฉพาะในประเทศฟิลิปปินส์และไทย จากปัจจัยดังต่อไปนี้ 1.ตลาดแรงงานที่ตึงตัว 2.การฟื้นตัวของการลงทุน ท่ามกลางเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ 3.ดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับต่ำ 4.ฐานะการคลังที่ยังสามารถเกื้อหนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะในฟิลิปปินส์และไทย แม้จะมีอุปสรรคในระยะสั้นอยู่บ้าง แต่การฟื้นตัวตามทางเศรษฐกิจพัฒนาแล้วจะช่วยให้สิงคโปร์ มาเลเซีย ตลอดจนไทยจะเติบโตได้ดีในครึ่งหลังของปี 56

2. การปรับฐานนโยบายทางการเงินท่ามกลางเงินเฟ้อมีแนวโน้มว่าจะปรับตัวสูงขึ้น ปัจจัยที่สำคัญ ประกอบด้วย OUTPUT GAP ที่ปรับตัวแคบลง และ การปรับฐานของโครงสร้างต้นทุน โดยจะมีการชดเชยต้นทุนเกิดขึ้นในมาเลเซียและอาจรวมถึงอินโดนีเซีย พร้อมทั้งแรงกดดันของเงินเฟ้อจากค่าแรงที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในสิงคโปร์และไทย

ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครึ่งหลังของปี แม้ว่าประเทศที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัด อาจจะเลือกที่จะใช้ค่าเงินที่แข็งขึ้นเป็นการปรับนโยบายการเงินให้ตึวตัวมากขึ้น ยกเว้นธนาคารกลางของอินโดนีเซีย ซึ่งมีปัญหาขาดดุลทางบัญชีเดินสะพัดซึ่งไม่สามารถใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนได้ ซิตี้คาดว่าจะมีการปรับดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในครึ่งปีหลังของปี2556 แม้ว่าการขึ้นราคาน้ำมันอาจจะมีผลมากกว่าในการลดการขาดดุล

สำหรับประเทศไทย นอกจากนโยบายการเงินตึงตัวโดยใช้ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ซิตี้คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซึ่งในที่สุด ซึ่งจะเป็นตัวสะท้อนความเชื่อมั่นมากขึ้นจากการลงทุน ซึ่งจะเป็นการสอดคล้องกับนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายสำหรับสนับสนุนการบริโภค

3. ความระมัดระวังด้านนโยบาย จากความไม่สมดุลทางการเงินและปัจจัยต่างประเทศ จากอุปสงค์ภายในประเทศและการเติบโตของสินเชื่อที่ยังคงมีอยู่ในระดับสูง และความสมดุลจากอุปสงค์จากต่างประเทศยังไม่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน นโยบายมหภาคที่มีความรัดกุม ยังคงเป็นทางเลือกเพื่อลดความไม่สมดุลของเศรษฐกิจ ความเสี่ยงที่การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของอินโดนีเซียจะยังสูงกว่า 2% ของ GDG คาดว่าธนาคารกลางอินโดนีเซียจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยประกอบกับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่รัดกุมร่วมกับนโยบายรัฐบาลในการลดการนำเข้าและเพื่อ ลดความเสี่ยงจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น

ความกังวลด้านการขยายตัวของสินเชื่อโดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ อาจทำให้มีความจำเป็นต้องใช้นโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่รัดกุมในสิงค์โปร์ ฟิลลิปินส์ และมาเลเซีย และส่งผลต่อการดำเนินนโยบายการเงิน มาเลเซีย และประเทศไทย

4. เงินทุนไหลเข้าและความแข็งแกร่งของค่าเงินหยวนจะผลักดันให้อัตราแลกเปลี่ยนในภูมิภาคอาเซียนแข็งค่าขึ้นยกเว้นค่าเงินอินโดนีเซีย จากสภาพคล่องที่มีอยู่มากทั่วโลก เงินทุนไหลเข้าไปยังตลาดที่มีความปลอดภัยสูงจะยังคงมีอยู่จากแนวโน้มการเจริญเติบโตที่ดี ช่วยลดความเสี่ยงจากภายนอก เป็นความเป็นไปได้ในการปรับเพิ่มเรตติ้งของประเทศและการกระจายตัวของทุนสำรองระหว่างประเทศ

ค่าเงินหยวนจะแข็งค่าขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จะช่วยลดแรงกดดันต่อการแข็งค่าของเงินใน ASEAN ยกเว้นอินโดนีเซียรูเปียห์ ที่ใช้นโยบายค่าเงินอ่อนค่าเพื่อลดความไม่สมดุลด้านดุลด้านต่างประเทศ ความเสี่ยงในมุมมองของซิตี้ต่อค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นประกอบด้วยนโยบายเงินทุนเคลื่อนย้ายที่เข้มงวด หรือการเข้าขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ

5. ในระยะยาว ผลจากการปรับสมดุลของจีนจะยังคงอยู่ มุมมองระยะยาว ซิตี้คาดการณ์ว่าความได้เปรียบด้านต้นทุนค่าแรงของจีนจะลดลงจากการปรับสมดุลภายในประเทศ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสู่ภาคการผลิตในอาเซียนอาจจะยังคงได้ประโยชน์จากการกระจายพอร์ตการลงทุนของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ รวมถึงการถอนการลงทุนโดยตรงออกจากจีน อันเนื่องจากการกระจายสินค้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและผลตอบแทนการลงทุนที่ดึงดูดใจในอาเซียน ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นระหว่างญี่ปุ่นและจีนในช่วงที่ผ่านมาเองก็อาจจะเป็นปัจจัยผลักดันให้มีการลงทุนจากญี่ปุ่นมาสู่ประเทศกลุ่มอาเซียนมากยิ่งขึ้น

ในทางกลับกัน ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นสูงขึ้นในประเทศจีนจะมีส่วนเพิ่มแรงกดดันต่อเงินเฟ้อในประเทศอาเซียนอีกด้วย แม้ว่าปัจจัยนี้อาจจะไม่ได้ลดความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนและอาจเป็นตัวกระตุ้นการบริโภคในช่วงต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ