"เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับผู้ใช้น้ำมันไม่ต้องถูกเก็บค่าน้ำมันแพงเพื่อไปอุดหนุนผู้ใช้ก๊าซ LPG ให้ได้ใช้ก๊าซในราคาถูก ช่วยป้องกันการลักลอบการใช้ผิดประเภทและการลักลอบส่งออก เพราะการควบคุมราคา LPG ทำให้รัฐต้องนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เก็บจากผู้ใช้น้ำมันคนไทยไปชดเชยให้กับประเทศเพื่อนบ้านด้วย" นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการ สนพ.กล่าว
ผู้อำนวยการ สนพ.กล่าวว่า ที่ผ่านมายังเกิดความไม่เข้าใจเกี่ยวกับการปรับราคา LPG ในกลุ่มประชาชนทั่วไปจำนวนมาก กระทรวงพลังงานจึงได้มอบหมายให้ สนพ. เร่งสร้างความเข้าใจถึงสถานการณ์ของก๊าซ LPG และความจำเป็นในการปรับราคาให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึง จึงได้เร่งประชาสัมพันธ์ในหลากหลายช่องทาง โดยเฉพาะได้จัดทำแผ่นพับข้อมูลเพื่อเผยแพร่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ก๊าซ LPG รวมถึงประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับการปรับราคา LPG ทั้งในภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม และปิโตรเคมี จำนวนมากกว่า 2 ล้านฉบับกระจายไปทั่วประเทศ
สำหรับในปี 2556 การปรับราคา LPG ในภาคครัวเรือนและขนส่ง ภาครัฐมีแนวทางจะปรับเพิ่มขึ้นจาก 18.13 บาท/กก. เป็น 24.82 บาท/กก. อย่างไรก็ดี ภาครัฐมีแนวทางช่วยเหลือให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยเพื่อให้ได้ใช้ก๊าซฯในราคาเดิมที่ 18.13 บาท/กก. โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ประชาชนผู้มีรายได้น้อยประมาณ 8.4 ล้านครัวเรือนที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วย/เดือน และผู้ไม่มีไฟฟ้าใช้ และกลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ซึ่งขณะนี้ สนพ.ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตในการจัดทำโครงการจัดทำฐานข้อมูลร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร และครัวเรือนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้เพื่อรองรับการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)
ด้านนายสุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต กล่าวว่า โครงการดังกล่าวกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการจัดทำสำมะโนร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหารที่ใช้ก๊าซ LPG ในการประกอบอาหาร และครัวเรือนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ทั่วประเทศ 77 จังหวัด ประกอบด้วย ร้านค้าที่ใช้ก๊าซฯในการประกอบอาหารมีพื้นที่ไม่เกิน 50 ตารางเมตร และขนาดของถังก๊าซฯที่ใช้ต้องไม่เกิน 15 กก., หาบเร่ แผงลอยอาหารที่ใช้ก๊าซฯในการประกอบอาหาร จะต้องมีขนาดถังก๊าซฯที่ใช้ไม่เกิน 15 กก. และครัวเรือนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ เป็นครัวเรือนที่อยู่ในเขตเทศบาลที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้
ทั้งนี้ ในการลงพื้นที่สำรวจจะมีการจัดทำแบบฟอร์มลงทะเบียนเพื่อระบุตำแหน่งร้านค้า และบริเวณในการจำหน่ายของหาบเร่ แผงลอยอาหาร และครัวเรือนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ โดยใช้หมายเลขบัตรประชาชนในการลงทะเบียนรับสิทธิ์ การจัดเก็บข้อมูลจะมีการกำหนดตำแหน่งดาวเทียมเป็นพิกัด GPS และพร้อมถ่ายรูปร้านค้า หาบเร่ ตามแหล่งชุมชน อาทิ ตลาดสด ตลาดนัด ส่วนวิธีการดำเนินงานนักวิจัยของสวนดุสิตโพลจะประสานเครือข่ายในกรุงเทพฯ และเครือข่ายพื้นที่ทั่วประเทศโดยเครือข่ายจะจัดหาลูกข่ายอย่างน้อย 20 -30 คนต่อจังหวัด ซึ่งขณะนี้ความคืบหน้า นักวิจัยของสวนดุสิตได้เริ่มอธิบายงานให้กับเครือข่าย และลูกข่ายในหลายจังหวัดทราบแล้ว และเริ่มลงเก็บข้อมูลในบางจังหวัด เช่น หนองคาย ลำปาง สมุทรสาคร ซึ่งคาดว่าผลการสำรวจฐานข้อมูลดังกล่าวจะแล้วเสร็จพร้อมกันทั่วประเทศประมาณเดือน มี.ค.56