พาณิชย์ กำหนดยุทธศาสตร์ไทย-จีนเพิ่มมูลค่าการค้าเป็น 1 แสนล้านเหรียญในปี 58

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 1, 2013 15:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางปราณี ศิริพันธ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศและหน่วยงานภายในกระทรวงพาณิชย์มีแนวคิดร่วมกันในการกำหนดยุทธศาสตร์กระชับความสัมพันธ์เศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างไทย-จีน โดยในเบื้องต้นเห็นควรกำหนดยุทธศาสตร์ดังกล่าว 2 ประการ คือ 1) ยุทธศาสตร์กระชับความสัมพันธ์เศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนไทย-จีนระดับประเทศ ผ่านกลไกการดำเนินงานคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน (JC เศรษฐกิจ) และ 2) ยุทธศาสตร์กระชับความสัมพันธ์เศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนไทย-จีนระดับไทย-มณฑล/มหานคร ด้วยการดำเนินงาน 3 ส่วนควบคู่กัน คือ การส่งเสริมการค้าและการขยายตลาด การส่งเสริมการลงทุนสองฝ่าย/การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมร่วมกัน และการส่งเสริมการท่องเที่ยว/วัฒนธรรม/สังคม

สืบเนื่องจากการเยือนอย่างเป็นทางการของผู้นำไทยและจีนเมื่อปี 2555 (ผู้นำไทยเยือนจีนเดือนเมษายน 2555 และผู้นำจีนเยือนไทยเดือนพฤศจิกายน 2555) ทั้ง 2 ฝ่ายได้ประกาศที่จะเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน (Comprehensive Strategic Cooperative Partnership) โดยเห็นพ้องในการกำหนดเป้าหมายการค้าระหว่างกันให้เพิ่มขึ้นเป็น 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2015 ผ่านความร่วมมือในด้านต่าง ๆ อาทิเช่น การค้าสินค้าเกษตรไทย-จีน การลงทุนระหว่างไทย-จีน และความร่วมมือเชื่อมโยงภูมิภาคภายใต้กรอบความร่วมมือต่าง ๆ (อนุภูมิภาคแม่น้ำโขง, อ่าวเป่ยปู้และแนวระเบียงเศรษฐกิจต่างๆ)

ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงกับจีนมากขึ้น ทำให้จีนเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยโดยเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของไทยและเป็นประเทศที่มีการนำเข้าเป็นอันดับ 2 ของไทย มีการขยายตัวทางการค้าเพิ่มขึ้นปีละไม่น้อยกว่าร้อยละ 15

นางปราณี กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมฯ สนับสนุนการจัดทำยุทธศาสตร์ความตกลงเป็น 2 ระดับ เนื่องจากปัจจุบันจีนมีการปกครองแบบกระจายอำนาจจากส่วนกลาง (Decentralization) รัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละมณฑล จึงมีอำนาจทางการบริหารค่อนข้างมาก อีกทั้งเพื่อเป็นการสร้างความคล่องตัวและลดขั้นตอน รัฐบาลระดับมณฑลจึงสามารถกำหนดนโยบาย และคิดค้นมาตรการส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนแข่งขันกันในการดึงดูดทุนจากต่างชาติ นอกเหนือจากกฎระเบียบในระดับประเทศโดยมีรัฐบาลกลางเป็นผู้กำกับดูแลแล้ว รัฐบาลแต่ละมณฑลของจีนยังมีอำนาจในการออกกฎหรือระเบียบบังคับใช้ในระดับท้องถิ่นเองได้ ประกอบกับในแต่ละมณฑลของจีนมีประชากรจำนวนมากเป็นตลาดขนาดใหญ่

ดังนั้น การกำหนดยุทธศาสตร์หรือทำความตกลงกับจีนในทั้ง 2 ระดับจะทำให้การส่งออกสินค้าไทยไปจีนได้รับความสะดวกมากขึ้น ในขณะที่การจัดทำ MOU ระดับมณฑล/มหานคร จะต้องมีหน่วยงานกลางในการประสานกับจังหวัดต่าง ๆ เพื่อให้เนื้อหาของ MOU ของไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกันและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระดับประเทศเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับการส่งออกของไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ