"การลงทุนในภาคเหนือเป็นภูมิภาคที่มีโครงการที่ยื่นคำขอเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ อุตสาหกรรมหลักในพื้นที่นี้ คือ การผลิตพลังงานทดแทนจากธรรมชาติ อาทิ กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และชีวมวล และพลังงานทดแทนอื่นๆ ตามด้วยกิจการผลิตหรือถนอมอาหารจากพืช ผัก ผลไม้ การผลิตเชื้อเพลิงจากผลผลิตการเกษตร รวมทั้งอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วน และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสนใจเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก และอุตสาหกรรมเหล่านี้ก็เป็นกลุ่มที่บีโอไอยังให้ความสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่" นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม กล่าว
โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา(51-55) มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการส่งเสริมการลงทุนในภาคเหนือรวม 665 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 156,200 ล้านบาท ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมและ BOI จึงได้จัดสัมมนารับฟังความเห็นจากนักลงทุนในพื้นที่ภาคเหนือ ก่อนจะรวบรวมไปวิเคราะห์ใช้ในการจัดทำยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุน และนำเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เป็นประธาน ให้พิจารณาอนุมัติ
รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามนโยบายใหม่นั้นจะเน้นการจูงใจหรือกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านการวิจัยพัฒนา การรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการเข้าไปลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม และลงทุนในลักษณะคลัสเตอร์อุตสาหกรรม โดยหากผู้ลงทุนมีการลงทุนเพิ่มเติมในกิจการเหล่านี้ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่ม ซึ่งจะทำให้ได้สิทธิประโยชน์ที่ได้รับใกล้เคียงหรือเทียบเท่ากับสิทธิประโยชน์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นการปรับนโยบายครั้งนี้จึงมิได้เป็นการลดสิทธิประโยชน์ แต่เป็นการปรับทิศทางการส่งเสริมให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลก ทิศทางการพัฒนาของประเทศที่มุ่งสู่เศรษฐกิจฐานความรู้มากยิ่งขึ้น
ด้านนายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการ BOI กล่าวว่า ภายใต้ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ แม้จะมีผลการศึกษาให้เลิกส่งเสริมการลงทุนในกิจการบางประเภท แต่ BOI ก็จะรับฟังความเห็นและข้อเสนอของนักลงทุนทั่วประเทศด้วย และจะพิจารณามาตรการส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการเอสเอ็มอี ซึ่งได้สิ้นสุดระยะเวลาให้ส่งเสริมไปก่อนหน้านี้ในปี 2554 โดยจะพิจารณาให้สอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ เพื่อให้สามารถสนับสนุนกิจการของเอสเอ็มอีไทยในกลุ่มที่อาจเลิกให้การส่งเสริม
นอกจากนี้ BOI ยังมีแนวคิดที่จะเสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน เพื่อเพิ่มเครื่องมือใหม่ในการให้สิทธิประโยชน์ เพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายได้มากขึ้น รวมทั้งเพื่อเพิ่มการส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ
"ช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ปัจจัยต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก บีโอไอจึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับทิศทางยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งต้องสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคตตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลอดจนสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และแผนพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศ และมีการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว" เลขาธิการ BOI กล่าว
ทั้งนี้ภายใต้ร่างยุทธศาสตร์ใหม่ BOI มีแนวทางที่จะปรับเปลี่ยนจากเดิมที่ให้ส่งเสริมเกือบทุกกิจการมาเป็นส่งเสริมแบบมีเป้าหมายชัดเจน เน้น 10 กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ 1.กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ 2.กลุ่มอุตสาหกรรมพื้นฐาน 3.กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ 4.กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนและบริการด้านสิ่งแวดล้อม 5.กลุ่มธุรกิจบริการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม 6.กลุ่มเทคโนโลยีพื้นฐานขั้น 7.อุตสาหกรรมอาหารและแปรรูปสินค้าเกษตร 8.อุตสาหกรรม Hospitality & 9.อุตสาหกรรมยานยนต์และอุปกรณ์ และ 10.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า