สำหรับ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ตรวจพบพฤติกรรมนอมินี 26 รายนั้น กรรมการและผู้ถือหุ้นยอมรับสารภาพ 2 ราย ว่ามีการถือหุ้นแทนคนต่างชาติเพื่อดำเนินธุรกิจนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจบริการตัดเย็บเสื้อผ้า ตามบัญชีแนบท้าย 3 พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่งหากต่างด้าวจะทำธุรกิจจะต้องขออนุญาต โดยมีผู้เข้าข่ายกระทำผิดคือผู้ถือหุ้นคนไทย 5 คน และกรรมการคนต่างด้าวอีก 2 คน
ทั้งนี้ กรมฯ ได้ส่งดำเนินคดีตามมาตรา 36 และมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้ว โดยจะมีโทษจำคุก 3 ปี ปรับ 1 แสน-1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่อีก 24 ราย ทำธุรกิจเกี่ยวกับซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งไม่ได้อยู่ในธุรกิจตามบัญชีแนบท้ายกฏหมาย แต่กรมฯ จะตรวจสอบเชิงลึกและส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
ส่วนในจังหวัดชลบุรี ตรวจพบพฤติกรรมนอมินี 303 ราย โดย 20 ราย ทำธุรกิจตามบัญชีแนบท้าย 3 คือ ธุรกิจนายหน้าขายอสังหาริมทรัพย์ 2 ราย, ธุรกิจก่อสร้าง 1 ราย, ธุรกิจการท่องเที่ยว 1 ราย, ธุรกิจขายอาหารและเครื่องดื่ม 5 ราย และธุรกิจบริการ 11 ราย เช่น ให้เช่าที่พัก 7 ราย, ให้เช่ารถ 1 ราย, ผลิตบรรจุภัณฑ์ 1 ราย, โรงกลึง 1 ราย, บาร์และโต๊ะบิลเลียต 1 ราย ซึ่งมีผู้เข้าข่ายกระทำผิดเป็นผู้ถือหุ้นคนไทย 8 คน กรรมการคนไทย 4 คน และกรรมการคนต่างด้าว 34 คน
ทั้งหมดนี้จะต้องตรวจสอบเชิงลึกต่ออีก โดยการเรียกสอบกรรมการบริษัท และให้ส่งเอกสารการทำธุรกิจเข้ามายังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หากพบการกระทำผิดจะส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนที่ไม่สามารถขอหลักฐานได้จะส่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) ดำเนินการต่อไป ขณะที่อีก 283 ราย ทำธุรกิจเกี่ยวกับซื้อที่อยู่อาศัย ไม่ได้อยู่ในบัญชีแนบท้ายกฎหมาย จะตรวจสอบเชิงลึกและส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป สำหรับอีก 3 จังหวัดที่เหลือ จะเร่งตรวจสอบให้แล้วเสร็จในเดือนก.พ.นี้ ส่วนอีก 71 จังหวัดทั่วประเทศ จะตรวจสอบให้เสร็จภายในปีนี้
รมช.พาณิชย์ ยืนยันว่า การตรวจสอบครั้งนี้ไม่ได้เป็นการทำลายบรรยากาศการลงทุนของคนต่างชาติ แต่ต้องการสร้างบรรทัดฐานและรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ในปี 58 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติและภาคธุรกิจไทยว่าจะไม่มีการกระทำหลบเลี่ยงกฎหมาย