สำหรับเขตเหมาะสมต่อการปลูกข้าวมีทั้งสิ้น 75 จังหวัด 793 อำเภอ 5,669 ตำบล แบ่งเป็น ภาคเหนือ 17 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ภาคกลาง 18 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัด และภาคใต้ 13 จังหวัด เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกอ้อยโรงงาน 51 จังหวัด 432 อำเภอ 2,369 ตำบล แบ่งเป็น ภาคกลาง 11 จังหวัด ภาคตะวันออก 6 จังหวัด ภาคเหนือ 14 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รวมทั้งสิ้น 42 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 17 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด ภาคกลาง 7 จังหวัด ภาคตะวันออก 6 จังหวัด
ขณะที่พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับปลูกยางพารามีทั้งสิ้น 68 จังหวัด 499 อำเภอ 2,251 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคกลาง 8 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ภาคเหนือ 17 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และภาคใต้ 14 จังหวัด เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกมันสำปะหลังมีทั้งสิ้น 49 จังหวัด 478 อำเภอ 2,314 ตำบล แบ่งเป็น ภาคกลาง 9 จังหวัด ภาคตะวันออก 6 จังหวัด ภาคเหนือ 14 จังหวัด และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และสุดท้ายคือเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกปาล์มน้ำมัน มีทั้งสิ้น 26 จังหวัด 185 อำเภอ 856 ตำบล แบ่งเป็น ภาคกลาง 5 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัด และภาคใต้ 14 จังหวัด
โดยหลังจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะจัดส่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อให้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการทำการผลิตหรือการส่งเสริมการผลิตทางการเกษตรที่เหมาะสม มีปริมาณการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด สามารถรักษาเสถียรภาพของระดับราคาผลผลิตทางการเกษตร และยกระดับรายได้ของเกษตรกรให้สูงขึ้น
“การประกาศกำหนดเขตเหมาะสมสำหรับปลูกพืช 6 ชนิดในครั้งนี้ จะเป็นข้อมูลที่สำคัญในการให้เกษตรกรพิจารณาและตัดสินใจร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯในพื้นที่ เพื่อให้การเพาะปลูกของตัวเองเกิดความเหมาะสมและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ก็ต้องมีการพิจารณาหามาตรการจูงใจให้เกษตรกรหันมาปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกให้มีความเหมาะสมกับพื้นที่ เช่น การสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าจะเรื่องน้ำ หรือปัจจัยการผลิตอื่นๆ ควบคู่ด้วย“นายยุคล กล่าว