(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าฯเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคม.ค.56ที่72.1จาก70.6 ในธ.ค.55

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 7, 2013 12:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ม.ค.56 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมอยู่ที่ 72.1, ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 72.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 100 โดยเดือนนี้ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกรายการ

สำหรับปัจจัยบวกที่สำคัญ ประกอบด้วย ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ปรับคาดการณ์ GDP ปี 55-56 เพิ่มขึ้น หลังจากภาวะเศรษฐกิจของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 55 ขยายตัวดีเกินคาด, คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามเดิมที่ 2.75% ต่อปี, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือ สภาพัฒน์ และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดการณ์ GDP ปี 56 ขยายตัวในระดับที่เกิน 5% และ เงินบาทแข็งค่า

ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น, ความกังวลจากเงินบาทที่แข็งค่ารวดเร็ว, ความกังวลเกี่ยวกับการถูกเลิกจ้างหลังปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท ทั่วประเทศ และความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองและสถานการณ์ในภาคใต้

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นทุกรายการและดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และปรับตัวอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 16 เดือนนับตั้งแต่เดือน ต.ค.54 เป็นต้นมา โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตที่ปรับตัวสูงขึ้นถึงระดับ 100 เป็นครั้งแรกในรอบ 16 เดือนเช่นเดียวกัน เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจโลปรับตัวดีขึ้น จนส่งผลให้การบริโภค การลงทุน การส่งออก และการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศส่งผลให้กำลังซื้อโดยรวมเพิ่มสูงขึ้น

"ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 100 ถือเป็นสัญญาณขาขึ้น คนมีความมั่นใจว่ารายได้ในอนาคตมีโอกาสปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้กำลังซื้อของคนไทยดีขึ้น การจับจ่ายใช้สอยเป็นไปอย่างคึกคักตั้งแต่นี้เป็นต้นไป เหตุเพราะผู้บริโภคเชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น" นายธนวรรธน์ กล่าว

ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ คาดว่า การบริโภคของประชาชนในปัจจุบันจะขยายตัวดีขึ้นป็นลำดับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปีนี้ เนื่องจากประชาชนมีรายได้มากขึ้นจากการพื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย อีกทั้งรายได้ของประชาชนยังสูงขึ้นจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ นโยบายการจำนำข้าว การปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ตลอดจนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังมีความวิตกกังวลและรอดูสถานการณ์เกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ยังคงมีความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่อาจเกิดขึ้นได้อนาคต ตลอดจนค่าครองชีพที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง และความผันผวนทางการเมืองไทย ทั้งนี้การปรับตัวดีขึ้นของการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจะฟื้นขึ้นได้อย่างต่อเนื่องจากปัจจุบัน ถ้ารัฐบาลเร่งรัดการใช้นโยบายการคลังผ่านการใช้งบประมาณ เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจมากขึ้นก็จะเป็นแรงพยุงที่สำคัญเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจไทยผันผวนตามเศรษฐกิจโลก

ขณะที่ เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปีนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ 3 ด้านด้วยกัน ประกอบด้วย 1.ปัญหาการปลดคนงานจากผลกระทบการปรับขึ้นค่าแรง ซึ่งภาคแรงงานมีความกังวลว่านายจ้างโดยเฉพาะสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กจะมีการปลดคนงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากแบกภาระต้นทุนค่าจ้างไม่ไหว ซึ่งรัฐบาลจะต้องเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในเรื่องการแก้ปัญหาสภาพคล่องเพื่อป้องกันไม่ให้มีการปลดคนงานเพิ่มขึ้น

2.ปัญหาด้านการเมือง ภายหลังมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ไปแล้วในเดือน มี.ค.การเมืองไทยก็จะเป็นที่น่าจับตาต่อว่ารัฐบาลจะยังเดินหน้าในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญต่อหรือไม่ รวมทั้งกรณีปัญหาข้อพิพาทเรื่องเขาพระวิหารที่ประชาชนยังมีความกังวลว่าจะกลับมาเป็นประเด็นกดดันทางการเมืองในประเทศอีกหรือไม่

3.ปัญหาเงินบาทแข็งค่า ซึ่งผู้ประกอบการมองว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ในช่วงต้นปีนี้ และคาดว่าจะมีผลต่อการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาส 2 ได้

"เรายังมองปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้จะกระจุกตัวอยู่ในไตรมาส 2 ทั้งในเรื่องความกังวลจากการถูกเลิกจ้าง ปัญหาการเมือง และเงินบาทแข็งค่า ส่วนปัจจัยอื่นๆ เช่น เศรษฐกิจโลกนั้นยังถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงโดยรวม" นายธนวรรธน์ ระบุ

ส่วนการคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) ของไทยในช่วงไตรมาส 1/55 นั้น คาดว่าจะขยายตัวได้ 4.5-5.0% ทั้งนี้ ม.หอการค้าไทย จะมีการแถลงปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้อีกครั้งในช่วงสิ้นเดือน ก.พ.56 จากปัจจุบันที่มองว่า GDP ในปีนี้จะเติบโตได้มากกว่าระดับ 5%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ