ส่วนสาเหตุของการจดทะเบียนเลิกกิจการเดือนม.ค.56 ที่ 1,202 รายนั้น 38% มาจากการไม่ประกอบกิจการ ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจการค้าสลากที่มีระเบียบให้ผู้ค้าสลากต้องเป็นนิติบุคคล จึงมีการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ในธุรกิจดังกล่าวสูง แต่เมื่อไม่ได้โควตาก็ต้องเลิกกิจการ ขณะที่อีก 26% เลิกกิจการเพราะขาดทุน และอีก 28% เลิกกิจการ เพราะผลตอบแทนไม่ได้ตามเป้าหมาย ส่วนที่เหลืออีก 10% เป็นเหตุผลอื่นๆ เช่น ปัญหาภายในองค์กร กรรมการเสียชีวิต ฯลฯ
"ที่กลัวกันว่า นโยบายขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 300 บาท จะทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบโดยเฉพาะ SMEs นั้น ไม่เป็นความจริง เพราะยังมี SMEs มาจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลใหม่ถึง 94% ของนิติบุคคลตั้งใหม่เดือนม.ค.56 ส่วนผู้ที่เลิกกิจการที่เพิ่มขึ้น 9% นั้นเป็นอัตราปกติไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก สาเหตุที่เลิกกิจการเพราะไม่ได้งานตามที่คาดไว้ ส่วนใหญ่เป็นผู้ค้าสลาก" นายณัฐวุฒิกล่าว
ขณะที่ ม.ค. 56 มีธุรกิจตั้งใหม่ 8,184 ราย สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้น 3,644 ราย หรือเพิ่มขึ้นถึง 80% เมื่อเทียบกับเดือนธ.ค.55 และเพิ่มขึ้น 3,097 ราย หรือเพิ่มขึ้น 60% เมื่อเทียบกับเดือนม.ค.55
รมช.พาณิชย์ กล่าวถึงสาเหตุที่มีการจดทะเบียนตั้งนิติบุคคลเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ว่า เป็นผลจากนโยบายการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% ลงมาเหลือ 23% เมื่อปี 55 และจะเหลือ 20% ในปีนี้ จึงทำให้ธุรกิจพร้อมเข้าสู่ระบบมากขึ้นโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและเล็ก(SMEs) ที่มีการจดทะเบียนนิติบุคคลตั้งใหม่มากขึ้น หรือมีสัดส่วนสูงถึง 94% ของนิติบุคคลตั้งใหม่ในเดือนม.ค.56
นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อถึงเงินทุนจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่ในเดือนม.ค.56 ว่า มีมูลค่า 40,758 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 142% หรือเพิ่มขึ้น 23,969 ล้านบาท เทียบกับเดือนธ.ค.55 และเพิ่มขึ้น 133% หรือ 23,312 ล้านบาทเทียบกับเดือนม.ค.55 โดยธุรกิจตั้งใหม่อันดับ 1 เป็นธุรกิจบริการนันทนาการ 1,154 ราย อันดับ 2 คือ ธุรกิจบริการด้านวิทยุและโทรทัศน์ 789 ราย ตามด้วยธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 657 ราย ธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนตั้งใหม่สูงสุด ได้แก่ ผลิตไฟฟ้า 8,762 ราย อสังหาริมทรัพย์ 2,617 ราย ก่อสร้างอาคารทั่วไป 2,479 ราย