ธปท.เผย ปี 55 สินเชื่อระบบแบงก์โต 13.7% กำไรโต 21% ตามการฟื้นตัวศก.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 7, 2013 15:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอานุภาพ คูวินิชกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2555 มีเสถียรภาพ สินเชื่อขยายตัวได้ดีที่ 13.7% จากการที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวตามแรงส่งจากอุปสงค์ภายในประเทศหลังภาวะน้ำท่วม และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทำให้สภาพคล่องตึงตัวขึ้นตามการขยายตัวของสินเชื่อ

โดยเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวตามแรงส่งจากอุปสงค์ภายในประเทศหลังภาวะน้ำท่วมและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ส่งผลให้สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 13.7 ผลกระทบของเศรษฐกิจโลกต่อภาคการส่งออกไทยและการออกหุ้นกู้เพิ่มขึ้นของบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่ง ทำให้สินเชื่อธุรกิจ (สัดส่วนร้อยละ 69.8 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวชะลอลงจากปีก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 10.6 ชะลอตัวลงในเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคธุรกิจการเงินและธุรกิจก่อสร้างที่ยังขยายตัวได้เพิ่มขึ้นจากการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจเพื่อการลงทุน (Holding Companies) เพื่อใช้ขยายธุรกิจในต่างประเทศ ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ การซ่อมสร้างหลังอุทกภัยและโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของรัฐ

ส่วนสินเชื่อ SME (สัดส่วนร้อยละ 51.8 ของสินเชื่อธุรกิจ) ขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 14.1 ในขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภค (สัดส่วนร้อยละ 30.2 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวร้อยละ 21.6 เร่งตัวขึ้นในสินเชื่อทุกประเภท โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ จากมาตรการรถยนต์คันแรก และสินเชื่อส่วนบุคคลจากความต้องการใช้จ่ายหลังน้ำท่วมและธนาคารพาณิชย์ หันมาให้สินเชื่อประเภทนี้มากขึ้น เนื่องจากได้รับผลตอบแทนค่อนข้างสูง

ในปี 2555 ธนาคารพาณิชย์ระดมเงินฝากเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนตั๋วแลกเงิน (B/E) ที่ครบกำหนดจากผลของมาตรการเรียกเก็บเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินบนฐานของ B/E และเกณฑ์ควบคุมการออก B/E ของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และมีการกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้นรวมทั้งการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิและออกหุ้นกู้ในต่างประเทศด้วย โดยสินเชื่อที่ขยายตัวต่อเนื่องทำให้สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์โดยรวมตึงตัวขึ้น โดยสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก B/E และเงินกู้ยืมเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 87.9

คุณภาพสินเชื่ออยู่ในเกณฑ์ดีตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มียอดคงค้าง 254.2 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2555 ลดลงจากปี 2554 จำนวน 11.9 พันล้านบาท จากการรับชำระหนี้ การตัดหนี้สูญและการขายหนี้ NPL ในส่วนของสินเชื่อธุรกิจ เป็นสำคัญ ส่งผลให้สัดส่วน Gross NPL และ Net NPL ต่อสินเชื่อรวม ลดลงเหลือร้อยละ 2.3 และร้อยละ 1.1 ตามลำดับ

แม้ว่าคุณภาพสินเชื่อยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังและคำนึงถึงความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก จึงได้กันเงินสำรองเพิ่มขึ้น ทำให้สัดส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองที่ต้องกันตามกฎหมายเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 157.2

ในปี 2555 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 173.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 30.4 พันล้านบาท หรือร้อยละ 21.2 โดยกำไรที่เพิ่มขึ้นมาจากทั้งรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียม เช่น ค่านายหน้าธุรกิจประกันภัยและค่าบริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ประกอบกับการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือร้อยละ 23 ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย ( ROA) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.2 และอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 9.5

ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (NIM) ทรงตัวที่ร้อยละ 2.5 ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนเพิ่มขึ้นเพียงพอที่จะรองรับการขยายสินเชื่อในระยะต่อไป โดยเงินกองทุนที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 และการจัดสรรกำไรอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Tier-1 ratio) อยู่ที่ร้อยละ 16.3 และร้อยละ 11.8 ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนตามเกณฑ์ Basel III ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2556 มาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ