"ธนิต"ออกแถลงการณ์ 6 ข้อโต้"พยุงศักดิ์" ท้าดีเบตแก้ปัญหาขัดแย้งส.อ.ท.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 7, 2013 17:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ(ส.อ.ท.) ออกแถลงการณ์ 6 ข้อ เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาความขัดแย้ง 4 แนวทางตามที่คณะกรรมการบริหาร ส.อ.ท. และประธาน 5 ภาคได้ประชุมและได้จัดแถลงข่าวไปเมื่อในวันที่ 4 ก.พ.56 ซึ่งจาก 4 แนวทางดังกล่าวมีบางแนวทาง เช่น การเจรจาโดยใช้กรรมการ 2 ฝ่าย เป็นแนวทางที่ฝ่ายตนเป็นผู้เสนอมาก่อนหน้านี้ แต่นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล เป็นผู้ประกาศยกเลิก และข้อเสนอแนะบางส่วนอาจทำให้สังคมสับสน

โดยแถลงการณ์ทั้ง 6 ข้อ ประกอบด้วย 1.ขอสนับสนุนแนวทางกรรมการ 2 ฝ่าย หรือ คณะกรรมการ ส.อ.ท.สัมพันธ์ ซึ่งได้เห็นชอบจากการประชุมกรรมการ ส.อ.ท.เมื่อวันที่ 28 ม.ค.56 ซึ่งได้มีการประชุมครั้งแรก แต่ในวันที่ 30 ม.ค.56 นายวัลลภ วิตนากร ซึ่งเป็น 1 ในกรรมการร่วมฝ่ายนายพยุงศักดิ์ ได้แถลงข่าวว่าจะยกเลิกการประชุม และในช่วงวันเดียวกันนายสุทิน พรชัยสุรีย์ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะกรรมการร่วม (ฝ่ายนายธนิต) ได้โทรศัพท์ไปสอบถามคุณวัลลภฯ ก็ได้รับการยืนยันชัดเจนว่าจะไม่มีการเจรจาด้วยเหตุผลเพียงว่านายธนิต เข้าไปในสำนักงาน ส.อ.ท.เมื่อวันที่ 30 ม.ค.56 และมีการนำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปใน ส.อ.ท.

ซึ่งข้อเท็จจริงเป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่ามีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ประจำที่ ส.อ.ท.เป็นประจำจนถึงปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เดินเข้าไปพร้อมกับนายธนิต ก็เป็นชุดเดียวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาประจำการอยู่ที่ ส.อ.ท. ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากกล้องวงจรปิด ซึ่งการประกาศยกเลิกการประชุมปรากฎอยู่ในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เช่น หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 31 ม.ค.56

2. หากมีการประชุมกรรมการร่วม 2 ฝ่ายอีกครั้ง อีกฝ่ายจะต้องมีความจริงใจที่จะใช้กรรมการร่วม 2 ฝ่ายเป็นกลไกในการยุติปัญหาความขัดแย้ง โดยจะต้องให้เกียรติคณะกรรมการที่จะให้สามารถพูดจาตกลงกันได้อย่างอิสระ ไม่เข้าไปบงการทั้งการสร้างเงื่อนไขที่ไม่สร้างสรรค์ และหรือการยกเลิกหรือเลื่อนการประชุม ขอให้เป็นหน้าที่ของกรรมการทั้ง 2 ฝ่ายเป็นผู้พิจารณา ซึ่งถือเป็นตัวแทนของกรรมการ ส.อ.ท.ทั้งหมด และเห็นว่าควรจะมีการตั้งที่ปรึกษาคณะกรรมการร่วม ซึ่งควรมาจากบุคคลที่ทั้ง 2 ฝ่ายให้การยอมรับ เช่น จากคณะที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมฯ ท่านใดท่านหนึ่งที่เห็นสมควร

อนึ่ง ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556 นายพยุงศักดิ์ ยังมีคำสั่งที่ 20/009/2556 ให้ปลดนายสุทิน พรชัยสุรีย์ ออกจากการเป็นประธานภาคใต้ โดยได้ตั้งบุคคลอื่นขึ้นมาแทน ทั้งนี้ นายสุทิน ยังเป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายคุณธนิต แสดงถึงคุณพยุงศักดิ์ ขาดเจตนาที่ต้องการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และการดำเนินการเช่นนั้นเป็นการยั่วยุให้ปัญหายิ่งบานปลายออกไปอีก

3. ขอยืนยันว่านายพยุงศักดิ์ และพรรคพวกยังมีพฤติกรรมข่มขู่ คุกคาม และปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่-พนักงาน ส.อ.ท.จนสร้างความหวาดกลัว ไม่กล้าแม้แต่จะพูดคุยกับกรรมการฝ่ายตรงข้าม เห็นได้จากการที่เจ้าหน้าที่บางคนที่มาพูดคุยกับคุณธนิต ซึ่งได้เข้าไปใน ส.อ.ท.เมื่อวันที่ 30 ม.ค.56 พอตกช่วงเย็นพนักงานเหล่านั้นบางคนกลับได้รับคำสั่งโยกย้าย บางคนถูกลดตำแหน่งจากระดับผู้ช่วยผู้อำนวยการไปเป็นเจ้าหน้าที่ธรรมดา และบางคนถูกคำสั่งให้ย้ายออกไปจากสำนักงานที่เคยปฏิบัติงานไปอยู่สถานที่อื่น และบางคนยังถูกเรียกไปต่อว่า และข่มขู่ต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมการบริหารชุดใหม่(ฝ่ายนายธนิต) กำลังพิจารณาว่าจะนำเรื่องดังกล่าวไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

4. ขอเรียกร้องให้แต่ฝ่ายมีการแต่งตั้งตัวแทน ซึ่งมีความเข้าใจข้อบังคับของ ส.อ.ท.ออกมาถกแถลง(Debate) บนเวทีสาธารณะ เพื่อให้แต่ละฝ่ายสามารถใช้เป็นเวทีแสดงความชอบธรรมที่ตนกล่าวอ้างว่าดำเนินการถูกต้องตามข้อบังคับของ ส.อ.ท.โดยอาจให้บุคคลซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับ เช่น ผู้แทนจากสื่อมวลชนเป็นผู้ดำเนินการอภิปราย

อนึ่ง ขอยืนยันว่าคณะกรรมการบริหารชุดใหม่เป็นคณะกรรมการที่มาอย่างถูกต้องตามข้อบังคับส.อ.ท. และ พ.ร.บ.ส.อ.ท. และการดำเนินการที่ผ่านมาได้ปฏิบัติไปตามข้อบังคับที่กำหนด มีเพียงนายพยุงศักดิ์ เท่านั้นซึ่งออกมาบิดเบือนข้อบังคับ ทำให้สังคมเกิดความสับสน

5. ขอให้นายพยุงศักดิ์ แถลงให้ชัดเจนว่าจะปรับเปลี่ยนทบทวนข้อบังคับการเลือกตั้งอย่างไร รวมถึงการใช้สิทธิ์เลือกตั้งกรรมการ ส.อ.ท. ซึ่งฝ่ายนายพยุงศักดิ์ ได้เสนอให้มีการพิจารณาทบทวนใหม่ให้เป็นหลักสากล ขอให้แถลงให้ชัดเจนว่าจะมีแนวทางอย่างไร จะเป็นการลดบทบาทของ SMEs และสมาชิกที่มาจากต่างจังหวัดหรือไม่ เพราะที่ผ่านมานายพยุงศักดิ์ มีแนวทางที่จะลดคะแนนเสียงจากสมาชิก SMEs และต่างจังหวัดอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ข้อบังคับการเลือกตั้งของ ส.อ.ท.ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่มีปัญหาแต่อย่างใดจนถึงกับต้องไปแก้ไข แต่ปัญหาอยู่ที่ต้องกำหนดคุณสมบัติของประธาน ส.อ.ท.ให้ชัดเจน เช่น ต้องมีสถานะเป็นผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการจริงๆ ไม่ใช่เป็นนอมินี รวมถึงต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และหรือเป็นกรรมการในหน่วยงานของภาครัฐหรือเอกชนจนไม่มีเวลามาบริหารงาน ส.อ.ท. หรือมีผลประโยชน์อื่นๆ จนยึดติดกับตำแหน่ง

6. ขอให้เป็นที่รับรู้ว่านายพยุงศักดิ์ ไม่สามารถออกมาแถลงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีทุจริตงบประมาณฝึกอบรมน้ำท่วมจังหวัดลพบุรี ซึ่งนายพยุงศักดิ์ กล่าวอ้างมาตลอดว่าเป็นสาเหตุที่กรรมการและสมาชิกต่างจังหวัดออกมากลบเกลื่อนถอดถอนตนเองออกจากตำแหน่งประธาน ซึ่งแถลงการณ์ทั้ง 3 ฉบับที่ผ่านมาของคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ได้ขอให้ออกมาเปิดเผยข้อเท็จจริง และจนบัดนี้นายพยุงศักดิ์ ก็ยังไม่ออกมาเปิดเผยว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ ส.อ.ท.อย่างไร และใครเป็นผู้ทุจริต ดังนั้นแสดงถึงว่าเรื่องนี้ไม่มีมูลความจริง บุคคลที่นำเรื่องนี้ออกมาพูดทั้งที่ทราบว่าเป็นความเท็จไม่น่าเชื่อถือ

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กส.) เมื่อวันที่ 28 ม.ค.56 มีรองประธานฝ่ายนายพยุงศักดิ์ ท่านหนึ่งสอบถามในที่ประชุมเกี่ยวกับความคืบหน้าในเรื่องนี้ นายพยุงศักดิ์ ก็ไม่สามารถชี้แจงได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ