กสอ.โชว์กลยุทธ์ช่วย SMEs ลดผลกระทบขึ้นค่าแรง คาดจำนวนปิดกิจการลดลง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 8, 2013 14:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางศิริรัตน์ จิตต์เสรี รองอธิบดี กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้พยายามคิดหามาตรการเร่งด่วนในการช่วยเหลือส่งเสริมผู้ประกอบการทั้งรายเก่าและรายใหม่ รวมถึงสถานประกอบการต่าง ๆ อย่างเต็มที่ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่น ภายใต้การจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ซึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด 5 อันดับได้แก่ กลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม กลุ่มการค้า กลุ่มบริการ กลุ่มการผลิตเฟอร์นิเจอร์ กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง

ทั้งนี้ กสอ.จะมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิตของผู้ประกอบการ เพื่อลดต้นทุนการผลิต พร้อมกับชดเชยต้นทุนด้านแรงงานที่เพิ่มขึ้น ผ่านโครงการ ต่าง ๆ โดยในปี 2555 มี SMEs เข้าร่วมโครงการ 105 ราย ทำให้ต้นทุนการผลิตที่ลดลงรวมเป็นจำนวน 593 ล้านบาท ส่วนกิจกรรมการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกแก่ SMEs ในอุตสาหกรรมรายสาขา เป็นกิจกรรมการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของสถานประกอบการ อาทิ ด้านเทคโนโลยีการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การจัดการ และการตลาด เป็นต้น ซึ่งกรมฯ ได้ดำเนินการมาแล้วกว่า 15 ปี มีสถานประกอบการเข้าร่วมกว่า 2,000 กิจการ โดยในปี 2555 มีสถานประกอบการเข้ารับบริการจำนวน 110 ราย สามารถเพิ่มผลิตภาพได้ทั้งสิ้นกว่า 2,200 ล้านบาท

ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่จ่ายค่าจ้างแรงงานในอัตราที่ต่ำกว่า 300 บาทและสูงกว่า 300 บาท ซึ่งแต่ละรายอาจได้รับผลกระทบมากหรือน้อยแตกต่างกันไป โดยมีผู้ประกอบการจำนวนมากที่เข้าร่วมโครงการ ฯ และกิจกรรมต่าง ๆ กับทาง กสอ. ก่อนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท จำนวนกว่า 3,000 ราย ในปี 2555 และคาดว่าจะมีผู้ประกอบการไม่ต่ำกว่า 3,000 ราย เตรียมตัวเข้าโครงการ ฯ กับ กสอ. ในปี 2556 เพื่อหาแนวทางในการรับมือกับการปรับค่าแรงขึ้นดังกล่าว

ทาง กสอ. มีโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ มากมายกว่า 40 โครงการ อาทิ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน หรือ MDICP ซึ่งเป็นโครงการที่ให้คำปรึกษาเชิงลึกในด้านการปรับปรุงระบบการผลิต การวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ การจัดการด้านการเงินและบัญชี การจัดการด้านตลาด และการพัฒนาบุคลากร โครงการบริการเงินสมทบจ้างที่ปรึกษาเพื่อปรับปรุงการผลิตการจัดการ การตลาด และ การบริการ (Consultancy Fund : CF) โครงการการจัดการพลังงานแบบสมบูรณ์เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานสำหรับอุตสาหกรรม (Total Energy Management : TEM) ด้วยแนวคิด ในการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าที่สุด โครงการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ : Enhancing SMEs Competitiveness Through IT (ECIT) โดยการนำระบบ IT มาช่วยในการบริหารจัดการภายในโรงงาน กิจกรรมให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกแก่ SMEs ด้วยระบบ LEAN เป็นต้น ที่จะช่วยเหลือสนับสนุนผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะพิจารณาว่าแต่ละอุตสาหกรรมนั้นมีปัญหาอย่างไร และควรใช้แนวทางใดบ้างในการแก้ปัญหา โดยจะพิจารณาถึงความเป็นไปได้และเหมาะสมที่สุดซึ่งที่ผ่านมา มีกรณีศึกษาของแต่ละประเภทอุตสาหกรรมที่หลากหลายและได้รับผลกระทบจากนโยบายขึ้นค่าแรง แต่เมื่อเข้าร่วมโครงการกับทาง กสอ. ก็สามารถปรับตัวและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งหากผู้ประกอบการทั้งที่ได้รับผลกระทบและไม่ได้รับผลกระทบ ได้มีโอกาสในการรับรู้และสามารถเข้าร่วมโครงการหรือกิจกรรมกับทาง กสอ. ก็จะมีภูมิคุ้มกันในหลาย ๆ ด้าน รวมทั้งมีทิศทางในการดำเนินธุรกิจที่ดียิ่งขึ้น รวมทั้งยังสามารถลดการสูญเสียในส่วนที่ไม่จำเป็นลง ทำให้ต้นทุนลดลงได้ โดยแนวโน้มของการลดจำนวนแรงงานหรือปิดกิจการ คาดว่าจะลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้กว่า 80%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ