ความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นความร่วมมือโดยกลุ่ม ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ศึกษาการลงทุนสร้างโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) โรงไฟฟ้า โรงงานปิโตรเคมีในโมซัมบิก และส่งกลับมาเป็นวัตถุดิบของไทยด้วย นอกจากนี้ ฝ่ายไทยจะให้ความช่วยเหลือในการช่วยพัฒนาบุคลากรด้านพลังงานแก่โมซัมบิก
รมว.พลังงาน คาดว่าในอนาคตรัฐโมซัมบิกจะมีความต้องการพลังงานในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำ LNG โรงไฟฟ้า และโรงงานปิโตรเคมี หลังจากมีการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ขอ โคฟ เอนเนอร์ยี่ ขึ้นมา ปัจจุบันโมซัมบิก มีประชากรประมาณ 22 ล้านคน มีก๊าซธรรมชาติสำรองสุงสุดในโลก 60 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ปัจจุบันมีการใช้ก๊าซฯ 8 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และส่งออกน้ำมัน 22,000 บาร์เรล/วัน ซึ่งปัจจุบันยังขาดแคลนไฟฟ้าอยู่
ก่อนหน้านี้ บมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. ได้เข้าไปร่วมทุนในการผลิตปิโตรเลียมในโมซัมบิก โดยผ่านการซื้อหุ้นของ บริษัท โคฟ เอ็นเนอร์ยี่ (Cove Energy) วงเงินประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ได้สัดส่วนถือหุ้น 8.5% ในแปลงสัมปทาน โรวูมา ออฟชอร์ 1 (Rovuma Offshore Area 1) มีสัดส่วนก๊าซฯ ตามสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต คาดจะเริ่มผลิตก๊าซฯ ได้ในปี 2562
ปตท.สผ.ยังไม่มีนโยบายที่จะลงทุนเพิ่มเติมในโมซัมบิก เพราะการเพิ่มทุนครั้งที่ผ่านมาเป็นการระดมทุนครั้งใหญ่ และใช้วงเงินลงทุนซื้อโคฟ มูลค่าสูงมาก จึงต้องสร้างรายได้จากการลงทุนในส่วนนี้ให้คืนกลับมาก่อน เพื่อสร้างผลตอบแทนและสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน
สำหรับแหล่งโมซัมบิกที่กำลังพัฒนาจะนำก๊าซฯ ขึ้นมานั้น เป็นแหล่งก๊าซฯ ที่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ขนาดใหญ่ มีความลึกเพียง 3 กิโลเมตร ก็สามารถพบก๊าซฯ แล้ว ทำให้ต้นทุนในการสำรวจและพัฒนาต่ำ