"กิตติรัตน์"จี้ธปท.ควรชัดเจนเรื่องดอกเบี้ย จวกไร้คำตอบแก้ภาระขาดทุนสะสม

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday February 9, 2013 11:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ระบุว่า ในระยะสั้นที่ผ่านมานี้การแข็งค่าของเงินบาทมีสาเหตุสำคัญมาจากเงินทุนไหลเข้า อันเนื่องจากมีความมั่นใจในเศรษฐกิจของประเทศ แต่ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการกำหนดอัตราดอกเบี้ยในประเทศไว้สูง จนทำให้เกิดการเก็งกำไร ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันที่ 2.75% นั้น มีความแตกต่างที่ทำให้เกิดการไหลเข้าของเงินทุน เพราะถ้าดอกเบี้ยไม่ต่างกันมาก เงินจากต่างประเทศคงไม่ไหลเข้ามาลงทุนในตราสารมากอย่างที่ผ่านมา

"หากเราจะทบทวนนโยบายนี้ จะเป็นประโยชน์หรือไม่ ผมฝาก กนง.และธปท.พิจารณาเรื่องนี้ เพราะไม่ใช่เรื่องใหม่ ผมฝากเรื่องนี้มาตั้งแต่ช่วงที่ดอกเบี้ยนโยบายสูงกว่า 3% และตอนนี้เห็นชัดมากขึ้นว่ามีเงินไหลเข้ามาลงทุนเพื่อหวังส่วนต่างตรงนี้(ดอกเบี้ย)มากขึ้น" รองนายกฯและรมว.คลัง ระบุ

นายกิตติรัตน์ ยังเสนอด้วยว่าจากการที่ประเทศไทยมีการกู้เงินจากต่างประเทศนั้น หากสามารถชำระคืนเงินกู้ได้ก่อนกำหนดในช่วงระยะเวลานี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการลดการแข็งค่าของเงินบาทลงได้ ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังประสานกับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจหลายแห่งเพื่อให้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว และจะได้นำเข้าสู่การพิจาณาอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

"เรามีเงินกู้ต่างประเทศอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งถ้าเราชำระคืนก่อนกำหนดได้ โดยใช้เงินกู้บาทมาแทนก็จะทำให้อุปสงค์อุปทานของเงินตราต่างประเทศสวนทางกันกับการไหลเข้า ทำให้ค่าเงินไม่แข็งค่ามากเท่าที่เป็นอยู่กระทรวงการคลังกำลังขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี และประสานกับรัฐวิสาหกิจหลายแห่งที่มีเงินตราต่างประเทศว่าถ้าอนุมัติจากครม.แล้ว และด้วยความเห็นชอบจากรัฐวิสหกิจเหล่านั้นกระทรวงการคลังในฐานะที่ดูแลหนี้ของหน่วยงานเหล่านั้นก็พร้อมให้ความร่วมมือ" นายกิตติรัตน์กล่าว

พร้อมมองว่า การที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศจะต้องประสบกับภาวะขาดทุนจากการเข้าไปดูแลนโยบายต่างๆ ทางการเงิน เป็นเรื่องที่เป็นไปได้และถือเป็นหน้าที่ แต่สิ่งที่ต้องคำนึงคือ ถ้าดูแลแล้วเป็นภาระ เป็นจำนวนมากขึ้น และเป็นระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น โดยที่ยังไม่มีคำตอบว่าจะดำเนินการเพื่อไม่ให้ภาระนั้นสะสมมากขึ้นจนกลายเป็นปัญหาได้อย่างไรนั้นก็ถือเป็นเรื่องที่ต้องดูแล

"การออกพันธบัตรที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยตอบแทนผู้ถือพันธบัตรไว้แทนและส่งเงินมาให้ธปท.นำไปเก็บรักษาก็มีดอกเบี้ย ถ้าดอกเบี้ยสูงต้นทุนก็สูง ในขณะที่ผลตอบแทนจากเงินตราต่างประเทศที่อยู่ในความดูแลนั้น อัตราดอกเบี้ยต่ำ จึงเกิดส่วนต่าง ซึ่งปี 55 มีส่วนต่างที่เป็นผลขาดทุนเกิน 1 แสนล้านบาท ปีก่อนนั้นก็มีแต่น้อยกว่า สิ่งที่ผมกังวลคือ เมื่อมีนานขึ้นอีกปีและมีจำนวนมากขึ้น ผลขาดทุนสะสมจะมากขึ้นตามลำดับ หากคิดตั้งแต่ตอนนี้จะไม่เป็นปัญหารุนแรง แต่หากปล่อยให้ปี 56 มีปัญหาเดียวกัน มียอดขาดทุนสะสมเพิ่มอีก ก็จะกลายเป็นปัญหา" นายกิตติรัตน์ กล่าว

พร้อมระบว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลนโยบายการเงิน และการกำหนดดอกเบี้ยนโยบาย จำเป็นจะต้องพิจารณาและไตร่ตรองในเรื่องนี้ เพราะหากดำเนินการแล้วเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจก็ควรต้องรับผิดชอบ แต่หากทำแล้วเป็นผลดี แม้จะเสียบ้างแต่คุ้มค่าก็ไม่ต้องรับผิด

นายกิตติรัตน์ ยืนยันว่า การที่ตนทำหนังสือเพื่อแสดงความเป็นห่วงในเรื่องดังกล่าวไปถึงธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)อย่างเป็นทางการนั้น ไม่ใช่เป็นการเข้าไปแทรกแซง แต่เป็นการดำเนินการตามสิทธิและหน้าที่ของรมว.คลังตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย

ในการประชุม กนง.ที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 ก.พ.นี้ นายกิตติรัตน์ ระบุว่า สิ่งที่รัฐบาลอยากเห็นคือการดำเนินนโยบายที่พิจารณาข้อดีข้อเสีย พิจารณาประโยชน์ต่อเศรษฐกิจควบคู่ไปกับความเข้มแข็งขององค์กรที่มีหน้าที่กำกับนโยบายทางการเงิน

"ถ้าหากคำนึงแล้วมีคำตอบชัดเจนว่าการดำเนินงานจะใช้เวลาเท่านี้ เป็นจำนวนเท่านี้ และสามารถดูแลได้ ผมก็สบายใจขึ้น แต่ขณะนี้ผมไม่มีคำตอบ และตั้งแต่ที่ผมได้แสดงความกังวลไปทางวาจา ปัญหานั้นก็ยังไม่ลดลง ดูจะเพิ่มมากขึ้น ทิศทางที่เคยเป็นห่วงว่าส่วนต่างของดอกเบี้ยที่มากจะเป็นตัวดึงดูดเงินตราต่างประเทศเข้ามา ก็เกิดขึ้นจริงเห็นชัดขึ้น" รองนายกฯ และรมว.คลัง กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ