BOIระดมสมองนลท.อีสานชูยุทธศาสตร์การค้า หวังดึงดูดการลงทุนในแถบอินโดจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 11, 2013 11:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บีโอไอจัดสัมมนารับฟังความเห็นจากนักลงทุนไทยและต่างชาติในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรื่องยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ กระทรวงอุตสาหกรรมชูภาคอีสานเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญต่อการค้าและการลงทุน และจะกลายเป็นฐานการผลิตหลักของประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมเกษตร มั่นใจยุทธศาสตร์ใหม่บีโอไอจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าเกษตรแดนอีสาน

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศไทย โดยเป็นทั้งศูนย์กลางการเชื่อมโยงเศรษฐกิจของภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และเป็นฐานการผลิตพืชอาหารและพืชพลังงานทดแทนที่สำคัญ รวมทั้งเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมสนับสนุนอื่นๆ ดังนั้นการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ จำเป็นจะต้องรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติที่มีฐานการผลิตอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วย เพื่อที่บีโอไอ และกระทรวงอุตสาหกรรม จะได้จัดทำแนวทางในการส่งเสริมการลงทุนที่จะช่วยต่อยอดการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรม รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าจากทรัพยากรด้านการเกษตร ซึ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือถือเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญที่สุดของประเทศ

"ภาคอีสานเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเชื่อมโยงด้านการค้าและการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะมีถึง 10 จังหวัดที่มีพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ภาคอีสานจึงเปรียบเสมือนประตูการค้าการลงทุนสู่อินโดจีน และรัฐบาลก็มีแผนดำเนินโครงการสำคัญเพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจของภาคอีสาน เช่น รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และมอเตอร์เวย์ บางปะอิน-โคราช ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมก็จะมียุทธศาสตร์ที่จะสนับสนุนการลงทุนในภาคอีสานด้วยเช่นกัน" นายประเสริฐกล่าว

ทั้งนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนับเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยในปี 51-55 มีโครงการขอรับการส่งเสริมทั้งสิ้น 865 โครงการ เงินลงทุนรวมประมาณ 335,000 ล้านบาท อุตสาหกรรมหลักที่ลงทุนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ อุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะกิจการปศุสัตว์ กิจการอาหารแปรรูป และกิจการผลิตยางขั้นต้น รองลงมาได้แก่ อุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค โดยเฉพาะกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งส่วนใหญ่จะลงทุนที่นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี และบุรีรัมย์

ด้านนายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) กล่าวว่า ภายใต้ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ แม้จะมีผลการศึกษาให้เลิกส่งเสริมการลงทุนในกิจการบางประเภท แต่บีโอไอจะรับฟังความเห็นและข้อเสนอของนักลงทุนทั่วประเทศด้วย สำหรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามนโยบายใหม่นั้น จะเน้นการจูงใจหรือกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านการวิจัยพัฒนา การรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการเข้าไปลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม และลงทุนในลักษณะคลัสเตอร์อุตสาหกรรม

โดยหากผู้ลงทุนมีการลงทุนเพิ่มเติมในกิจกรรมเหล่านี้ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่ม ซึ่งจะทำให้สิทธิประโยชน์ที่ได้รับใกล้เคียงหรือเทียบเท่ากับสิทธิประโยชน์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นการปรับนโยบายครั้งนี้จึงมิได้เป็นการลดสิทธิประโยชน์ แต่เป็นการปรับทิศทางการส่งเสริมให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกและการพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจฐานความรู้มากยิ่งขึ้น

"10 กว่าปีที่ผ่านมา ปัจจัยต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนแปลงไปมาก บีโอไอจึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับทิศทางยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งต้องสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคตตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลอดจนสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และแผนพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศ และมีการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว" เลขาธิการบีโอไอกล่าว

ทั้งนี้ ภายใต้ร่างยุทธศาสตร์ใหม่ บีโอไอมีแนวทางที่จะปรับเปลี่ยนจากเดิมที่ให้ส่งเสริมเกือบทุกกิจการมาเป็นส่งเสริมแบบมีเป้าหมายชัดเจน เน้น 10 กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ คือ 1.กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ 2.กลุ่มอุตสาหกรรมพื้นฐาน 3.กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ 4.กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนและบริการด้านสิ่งแวดล้อม 5.กลุ่มธุรกิจบริการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม 6.กลุ่มเทคโนโลยีพื้นฐานขั้น 7.อุตสาหกรรมอาหารและแปรรูปสินค้าเกษตร 8.อุตสาหกรรม Hospitality & Wellness 9.อุตสาหกรรมยานยนต์และอุปกรณ์ 10.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ