สำหรับประเด็นที่ สนข.จะต้องไปวิเคราะห์เพิ่มเติม เช่น 1.ความต้องการใช้สาธารณูปโภค 2.โครงสร้างการคำนวณค่าบริการสาธารณูปโภคในสาขาต่างๆ 3.ปริมาณเงินลงทุนในโครงการ 4.ระยะเวลาการดำเนินการของโครงการ และ 5.ข้อมูลทางด้านเทคนิคการก่อสร้างสาธารณูปโภค เช่น ตำแหน่งของการก่อสร้างท่าเรือภายในนิคม ซึ่งล่าสุดรัฐบาลญี่ปุ่นเสนอแนะว่า การวางตำแหน่งท่าเรือไม่เหมาะสมอาจส่งผลกระทบต่อการจราจรภายใน โดยเสนอให้แยกท่าเรือคอนเทนเนอร์ ออกจากท่าเรือขนส่งวัตถุดิบ คาดว่าจะได้ข้อสรุปเบื้องต้น และเสนอให้ที่ประชุมอนุกรรมการฯพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไปวันที่ 18 ก.พ. นี้
"ข้อมูลที่ไม่ตรงกัน เช่น ข้อมูลด้านต้นทุนค่าน้ำประปาภายในนิคมฯ การประชาส่วนภูมิภาควิเคราะห์ว่ามีต้นทุนประมาณ 28.50 บาท/ลูกบาศก์เมตร ส่วนบริษัทอิตาเลียนไทยฯ ระบุบว่าอยู่ที่ 23 บาท/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งข้อมูลแต่ละหน่วยยังไม่ชัดเจน ดังนั้นต้องเร่งศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้ระบบขนส่งภายในนิคมฯเกิดความสมดุลกัน" นายชัชชาติ กล่าว
สำหรับผู้ร่วมทุนนั้น ขณะนี้ญี่ปุ่นยังไม่มีความชัดเจน เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการศึกษาข้อมูลประมาณ 1 ปี เพราะโครงการมีมูลค่าลงทุนรวมทั้งฝ่ายไทยและเมียนมาร์สูงถึง 2.9 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลไทยไม่สามารถเร่งรัดให้ญี่ปุ่นตัดสินใจได้ เพราะฝ่ายไทยทำหน้าที่เป็นฝ่ายสนับสนุนให้เกิดการลงทุน ทำได้เพียงพยายามผลักดันโครงการที่เป็นไปได้มากที่สุด ซึ่งยอมรับว่าไม่ง่าย เนื่องจากโครงการลงทุนมีรายละเอียดค่อนข้างมาก