ทั้งนี้ NPL ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากลูกหนี้รายใหญ่ 100 ราย เป็นมูลหนี้รวม 2 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง ขณะที่เป็นลูกหนี้รายย่อย ราว 1 หมื่นราย เป็นมูลหนี้รวม 2 พันล้านบาท NPL ที่เกิดขึ้นได้มีการตั้งสำรองหนี้ไว้เพียง 1 หมื่นล้านบาท
"ปัญหานั้นสะสมมาตั้งแต่ปี 49 และเพิ่มสูงขึ้นมากในปี 53-54 โดยสินเชื่อเติบโตก้าวกระโดนเป็นแสนล้านบาท จากการเพิ่มทุนเพียง 3 พันล้านบาท ...พบการปล่อยสินเชื่อในวงเงินที่สูงกว่าความเป็นจริง มีกระบวนการประเมินสินทรัพย์ให้สูงกว่าความเป็นจริงเพื่อให้ได้ยอดสินเชื่อที่สูงขึ้น บริษัทประเมินที่เกี่ยวข้องก็ได้ระงับไม่ให้มีการใช้แล้ว เพราะสร้างความเสียหายให้แบงก์" นายธานินทร์ กล่าว
ปัจจุบัน ธนาคารมีระดับเงินกองทุน 4% ได้ยื่นขอกระทรวงการคลังในการเพิ่มทุนวงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท ส่วนจะได้ตามที่เสนอขอหรือไม่ขึ้นอยู่กับข้อจำกัดของกระทรวงการคลัง ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังได้ให้ธนาคารดำเนินการกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยการตัดลดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนดำเนินการ และปล่อยสินเชื่ออย่างรอบคอบ รัดกุม
ทั้งนี้ในปี 56 ธนาคารจะไม่เน้นการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยให้รักษาระดับสินเชื่อคงค้างไว้ที่ 1.2 แสนล้านบาท ใกล้เคียงปี 55 แต่จะหันมาแก้ปัญหา NPL ดำเนินการภายในองค์กรให้เกิดความโปร่งใส มีการปรับเกณฑ์การให้สินเชื่อที่รัดกุมมากขึ้น ดำเนินธุรกิจตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งธนาคาร โดยเน้นการให้สินเชื่อแก่รายย่อย และชาวมุสลิม จากปัจจุบันธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อให้ลูกค้าชาวมุสลิมเพียง 3% ของสินเชื่อรวม ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 50% รวมถึงหันมาเน้นสร้างรายได้ค่าธรรมเนียม เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อให้สัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 50% ภายใน 5 ปี
สำหรับปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้น จะมีการประชุมคณะกรรมการธนาคารในวันพรุ่งนี้ (13 ก.พ.56) เพื่อดำเนินการจัดตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง คาดว่าจะดำเนินการจัดตั้งได้โดยเร็ว เพื่อให้มีการตรวจสอบตามกระบวนการต่อไป