หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนของพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ในขณะนั้น นายโตชิโร มูโตะ คงจะมีรายชื่อเป็นผู้ว่าการบีโอเจคนที่ 30 แต่ก็ต้องพบกับความผิดหวังเมื่อนายมูโตะซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลังญี่ปุ่นและรองผู้ว่าการบีโอเจไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสมาชิก ซึ่งมองว่าประสบการณ์การทำงานในกระทรวงการคลังของเขาเป็นภัยคุกคามต่อความเป็นอิสระของธนาคารกลาง ในขณะที่แผนบีของพรรคแอลดีพีที่ต้องการเสนอชื่อนายโคจิ ทานามิ ให้ดำรงตำแหน่งแทนก็ประสบความล้มเหลวในทำนองเดียวกัน
การประกาศลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 19 มีนาคมของนายมาซาอากิพร้อมกับรองผู้ว่าการบีโอเจทั้ง 2 คนก่อนที่จะครบวาระในเดือนเมษายนนี้ นับเป็นการเปิดโอกาสให้พรรคแอลดีพีของนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ซึ่งกลับมาครองเสียงข้างมากในรัฐบาลญี่ปุ่นภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ได้เสนอชื่อนายมูโตะเข้าสู่กระบวนการสรรหาของรัฐสภาอีกครั้ง และมีโอกาสเป็นไปได้สูงที่นายมูโตะจะได้เป็นตัวเก็งอันดับหนึ่งในกระบวนการคัดเลือก
แต่อย่างไรก็ดี ตัวเก็งที่ได้คาดว่า จะได้รับการเสนอชื่อในครั้งนี้ไม่ได้มีแค่เพียงนายมูโตะคนเดียว แต่ยังมีนายคาซูมาสะ อิวาตะ อดีตรองผู้ว่าการบีโอเจและนายเฮโซ ทาเคนากะ อดีตรัฐมนตรีเศรษฐกิจซึ่งต่างก็ได้รับการยอมรับในการนำญี่ปุ่นให้รอดพ้นจากวิกฤตในทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้การคาดการณ์เกี่ยวกับตัวเก็งที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการบีโอเจคนต่อไปมีความเข้มข้นมากขึ้นทุกขณะ
สื่อบางรายคาดว่า ตำแหน่งดังกล่าวอาจจะเป็นการช่วงชิงกันระหว่างนายคาซูมาสะ อิวาตะ และนายโทชิโร มูโตะ ซึ่งมีดีกรีเป็นอดีตรองผู้ว่าการบีโอเจด้วยกันทั้งคู่ ในขณะที่เครดิต สวิส และเจพีมอร์แกนแนะนำว่า นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) คนปัจจุบันเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมมากที่สุด
ในบรรดาผู้ที่ได้รับการคาดหมายดังกล่าว นายอิวาตะซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยกาคูชูอินดูเหมือนจะมีแนวคิดที่สุดโต่งมากที่สุด เขาเรียกร้องให้บีโอเจเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบด้านนโยบายการเงินเพื่อให้สามารถผ่อนคลายนโยบายได้อย่างห้าวหาญมากขึ้น เพื่อนำประเทศให้ผ่านพ้นภาวะเงินฝืด
นายอิวาตะระบุว่า “บีโอเจต้องแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบในเรื่องนโยบายการเงินอย่างจริงจัง และต้องดำเนินการผ่อนคลายนโยบายในขอบเขตที่ใหญ่มากพอที่จะโน้มน้าวให้ตลาดมองว่า การดำเนินการของบีโอเจมีความคืบหน้า"
นายอิวาตะยังแสดงความชื่นชมแถลงการณ์ของบีโอเจที่ได้กำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ 2% และการให้คำมั่นว่าจะซื้อสินทรัพย์ทางการเงินเป็นจำนวน 13 ล้านล้านเยนต่อเดือนโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งต้นปี 2557 เป็นต้นไปว่า เป็นการดำเนินการที่กล้าหาญ พร้อมกับย้ำว่า บีโอเจต้องบรรลุเป้าหมายดังกล่าวภายใน 2 ปีโดยใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินล่าสุดเพียงอย่างเดียว
ด้านนายคุโรดะ ซึ่งออกสื่อบ่อยที่สุดในระยะนี้ต้องการให้บีโอเจใช้มาตการทางการเงินอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุเป้าหมายอัตราเงินที่ระดับ 2% ภายใน 2 ปี ซึ่งเขาเห็นว่าบีโอเจสามารถช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นในช่วงชั่วอายุคนด้วยการออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม เพื่อยุติภาวะเงินฝืด
นายคุโรดะระบุว่า ธนาคารกลางมีความรับผิดชอบต่อเสถียรภาพราคาของประเทศ แต่บีโอเจยังไม่ได้ดำเนินการอย่างครบถ้วน เนื่องจากภาวะเงินฝืดของญี่ปุ่นได้ยืดเยื้อมาเป็นเวลานานถึง 15 ปี
แต่ถึงแม้นายคุโรดะจะเห็นด้วยกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ สำหรับเรื่องการเป็นตัวเก็งที่จะได้รับแต่งตั้งแล้ว เขาระบุว่า พอใจกับตำแหน่งในปัจจุบันซึ่งยังมีวาระการดำรงตำแหน่งอีกประมาณ 4 ปี พร้อมปฏิเสธที่จะไม่ตอบสนองในประเด็นที่ตกเป็นที่คาดการณ์ของสื่อ
ภารกิจที่เฝ้ารอ
นักวิเคราะห์ระบุว่า การลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระของนายชิรากาวาเป็นผลมาจากการที่นายอาเบะ กดดันให้บีโอเจกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการทำให้เงินเยนอ่อนค่าลงเพื่อขจัดภาวะเงินฝืด ตามนโยบายที่ใช้หาเสียง ซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการแทรกแซงความเป็นอิสระของธนาคารกลางอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
"สงครามค่าเงิน"เป็นสถานการณ์ที่หลายฝ่ายกังวล และไม่ต้องการให้เกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลชุดใหม่ของญี่ปุ่นประกาศนโยบายฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากกลยุทธ์ลดมูลค่าของสกุลเงินในประเทศ เพื่อให้สินค้าออกของประเทศมีราคาถูกลงในมุมมองของผู้ซื้อต่างชาติและส่งผลให้สินค้านำเข้ามีราคาแพงขึ้นนั้น ซึ่งกลยุทธ์นี้ช่วยกระตุ้นการเติบโตและเงินเฟ้อ ซึ่งในกรณีของญี่ปุ่นถือเป็นเรื่องที่เหมาะสม หลังจากที่ต้องเผชิญกับภาวะเงินฝืดมาเป็นเวลานาน
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เตือนว่กลยุทธ์ดังกล่าวเป็นการผลักภาระให้ประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าประเทศหนึ่งเกินดุลมากขึ้นก็เท่ากับว่าต้องมีประเทศที่ขาดดุลสูงขึ้น ซึ่งคราวนี้ประเทศตลาดเกิดใหม่รับผลพวงไปเต็มๆ
ระบบเศรษฐกิจในแบบของนายอาเบะ หรือ "อาเบะโนมิคส์" ส่งผลให้เงินเยนมีความผันผวนสูงก่อนที่กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ หรือ จี7 จะออกแถลงการณ์เพื่อสร้างความชัดเจนในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน โดยอัตราแลกเปลี่ยนจะเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่สำหรับผู้นำคนต่อไปที่จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนนายชิรากาวา
จุดแข็งของตัวเก็งที่คาดว่าจะได้รับการเสนอชื่อ
นักวิเคราะห์มองว่า นายคุโรดะมีประสบการณ์ด้านต่างประเทศอย่างกว้างขวางจากการทำงานในตำแหน่งประธานเอดีบี ซึ่งนายอาเบะมองว่ามีความสำคัญ ในขณะที่นายมูโตะมีประสบการณ์ทั้งในรัฐบาลและบีโอเจ และนายอิวาตะก็มีความเชี่ยวชาญในเรื่องเศรษฐกิจซึ่งทำให้เขาถูกมองว่าเป็นตัวเก็งที่มีความเหมาะสมมากที่สุด
สุดท้าย ไม่ว่าใครจะได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้ว่าบีโอเจคนต่อไป ทีมงาน In focus ก็เชื่อว่าจะสามารถทำงานตอบสนองนโยบายของนายอาเบะได้เป็นอย่างดี พร้อมกับนำพาญี่ปุ่นผ่านพ้นภาวะงินฝืดไปได้อย่างราบรื่นตามเป้าหมายของรัฐบาล