สำหรับแนวทางบริหารจัดการเงินก้อนที่ 2 ภายใต้วงเงิน 5,000 ล้านบาทซึ่งได้รับโอนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) นั้นได้กำชับและสั่งการให้ผู้ว่าราชการทุกจังหวัดคอยสอดส่องการดำเนินงานทุกขั้นตอนอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยว่าให้เร่งทำความเข้าใจและชี้แจงเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯด้วยว่าการดำเนินการใดๆ ก็ตามจะไม่มีการเรียกเก็บเงินค่าใดๆ ทั้งสิ้นจากสถาบันเกษตรกรหรือชาวสวนยาง หากพบการทุจริตให้ส่งหลักฐานถึงกระทรวงเกษตรฯทันทีเพื่อตรวจสอบและดำเนินการขั้นเด็ดขาด
"กรณีสถาบันเกษตรกรที่ได้รับอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการฯ จงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้เกิดการทุจริตตามผลการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการบริหารโครงการฯระดับจังหวัด คณะกรรมการบริหารโครงการฯ มีอำนาจสั่งยุติดำเนินการตามโครงการฯและดำเนินคดีกับสถาบันเกษตรกรได้ทันที" นายยุทธพงศ์ กล่าว
ส่วนแผนการรับซื้อยางจากสถาบันเกษตรกรตามหลักเกณฑ์ใหม่ที่ต้องเป็นเกษตรกรรายย่อยที่กรีดยางได้วันละ 2 กก.ต่อไร่ไม่เกิน 17 วันต่อเดือน และมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ไร่ต่อราย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค.56 โดยปริมาณรับซื้อรวม 1.7 แสนตัน มูลค่าการรับซื้อยางกว่า 17,000 ล้านบาท ซึ่งผลดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่เดือน ม.ค.55 ถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 1 ปี สามารถดึงปริมาณยางจากตลาดภายในประเทศได้จำนวน 196,728.441 ตัน ส่งผลให้สามารถพยุงราคายางภายในประเทศให้สูงขึ้นจนไม่กระทบต่อความเดือดร้อนของเกษตรกร
นอกจากนี้ รัฐบาลของผู้ผลิตยางทั้ง 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ได้ร่วมกันกำหนดมาตรการเก็บสต๊อคยางและลดปริมาณการส่งออกยาง จึงส่งผลให้ราคายาง FOB กรุงเทพฯ สามารถทรงตัวอยู่ในระดับราคา 85-100 บาทต่อกิโลกรัม ขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางซึ่งเป็นสมาชิกของสถาบันเกษตรกรประมาณ 3 แสนราย ขายยางให้กับโครงการในราคาสูงกว่าตลาดท้องถิ่นเฉลี่ย 15-20 บาทต่อกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าที่เพิ่มประมาณ 3,900 ล้านบาท ส่งผลให้เศรษฐกิจของภาคเกษตรมีรายได้สำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นอีกด้วย จากข้อมูลดังกล่าวถือเป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จของโครงการฯ นี้ได้เป็นอย่างดี