ทั้งนี้ จะมีการเสนอของบประมาณของปีงบประมาณ 2557 จำนวน 2 พันล้านบาท เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนดำเนินการ ซึ่งประเมินว่าโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ 2.2 ล้านล้านบาท จะมีโครงการ PPP ราว 3-4 แสนล้านบาท หรือ 20% ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟความเร็วสูง และโครงการทางหลวงพิเศษ
นายประสงค์ กล่าวต่อว่า ร่างกฎหมาย PPP จะมีการจัดทำยุทธศาสตร์การลงทุนทุก 5 ปี โดยในช่วง 5 ปีแรกจะกำหนดยุทธศาสตร์ในเรื่องของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการลงวทุนในด้านสังคมเป็นหลัก และจะมีการประเมินโครงการลงทุนในทุก 3 ปี นอกจากนี้จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทุนภาครัฐและเอกชน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีคณะกรรมการอีก 7 คนทั้งตัวแทนจากภาครัฐและเอกชน เพื่อให้การดำเนินการเกิดความโปร่งใสมากขึ้น รวมถึงจะมีการตั้งที่ปรึกษาอิสระในการพิจารณาโครงการ
ทั้งนี้ โครงการ PPP กำหนดโครงการลงทุนตั้งแต่ 1 พันล้านบาทขึ้นไป แต่สามารถให้อำนาจรัฐมนตรีกำหนดโครงการลงทุนที่สูงกว่า 1 พันล้านบาท หากเห็นว่าเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์และไม่สิ้นเปลืองงบประมาณของรัฐบาล ขณะเดียวกันก็สามารถอนุมัติโครงการที่มีมูลค่าต้ำกว่า 1 พันล้านบาทได้ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมาย PPP จะช่วยร่นระยะเวลาในการเปิดประมูลจากเดิมอาจต้องใช้เวลา 1-2 ปี เหลือเพียง 7-8 เดือนนับตั้งแต่วันประกาศร่าง TOR จนถึงขั้นตอนการเปิดประมูลและการจัดซื้อจัดจ้าง ขณะที่เงินทุนหมุนเวียน 2 พันล้านบาท ซึ่งจะขอเป็นทุนประเดิมจากรัฐบาล แต่ต่อไปจะมีรายได้จากการเปิดขายซองประมูลโครงการให้กับเอกชนเข้ามาเพิ่มเติม
นายประสงค์ กล่าวว่า ร่างกฎหมาย PPP นอกจากจะมีความโปร่งใสและป้องกันทุจริตแล้ว ยังให้ความสำคัญในเรื่องของการรับผิดหากเกิดการทุจริตซึ่งจะมีโทษทางคดีอาญาด้วย