(เพิ่มเติม) ผู้ว่า ธปท.เผยบาทเริ่มทรงตัว-เกาะกลุ่มภูมิภาคต้น ก.พ.หลังแข็งค่าหนักช่วง ม.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 14, 2013 14:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทเริ่มทรงตัวและเคลื่อนไหวเกาะกลุ่มภูมิภาคมากขึ้น หลังจากปรับตัวแข็งค่ามากในช่วงเดือน ม.ค.56 จากปัจจัยเรื่องปัญหาทางการเมืองในกลุ่มสหภาพยุโรป

อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่มีแนวโน้มในทางบวกมากกว่า จึงเป็นแรงสนับสนุนให้มีเงินไหลเข้ามาลงทุนในประเทศ ไม่เพียงเฉพาะจากปัจจัยเรื่องอัตราดอกเบี้ยเท่านั้น เช่น ระบบเศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นหากเข้ามาลงทุนหรือไม่, ความเสี่ยงในเรื่องเกี่ยวกับนโยบายและกฎเกณฑ์ต่างๆ, ความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน, ความเสี่ยงในเรื่องสภาพคล่อง, ความเสี่ยงในเรื่องผลตอบแทนที่จะได้รับ, บรรยากาศการลงทุน เป็นต้น ขณะที่ปัจจัยเรื่องดอกเบี้ยนั้นจะเป็นประเด็นท้ายๆ ที่นักลงทุนจะนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจ

อย่างไรก็ตาม ธปท.เองก็ไม่ได้อยู่ในความประมาท เพราะยังมีเครื่องมือที่จะใช้ในการบริหารจัดการ โดยผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ธปท.มีเครื่องมือหลายตัวที่จะนำมาใช้ในการดูแลเรื่องผลกระทบจากเงินทุนไหลเข้า ซึ่งเครื่องมือแต่ละตัวนั้นจะมีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกันไป

ทั้งนี้ เชื่อว่าความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างกระทรวงการคลังและธปท.นั้นถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ในภาพรวมแล้วมีความเห็นตรงกันเป็นส่วนใหญ่ และความเห็นที่แตกต่างกันนั้นน่าจะมีข้อสรุปในเชิงสร้างสรรค์ได้

"ไม่ถือว่าผิดธรรมชาติจนเกินไป เพราะทั้งสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น หรือประเทศเพื่อนบ้านก็มีความเห็นแตกต่างกันได้" นายประสาร กล่าว

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของปัญหามาจากการประเทศที่ประสบวิกฤตเศรษฐกิจอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษบกิจของตัวเอง ทำให้ส่งผลกระทบไปทั่วโลก เมื่อมีเงินทุนไหลเข้ามามากก็ต้องระบายออก หากทำไม่ได้ก็ต้องออกพันธบัตรมาดูดซับสภาพคล่อง ซึ่งอาจทำให้ ธปท.มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจนถึงขั้นขาดทุน แต่ขณะนี้ ธปท.ยังไม่มีความจำเป็นต้องของบประมาณจากรัฐบาล และ ธปท.ก็ไม่ได้เน้นการแสวงหากำไร แต่พิจารณาที่ความสามารถในการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งยังคงเป็นไปด้วยดี

ปัจจุบันงบในบัญชีของ ธปท.อาจติดลบจำนวน 5 แสนล้านบาท แต่หากพิจารณาจากบัญชีเงินตราต่างประเทศยังเป็นบวกถึง 8 แสนล้านบาท โดย ธปท.มีรายจ่ายจากดอกเบี้ยสูงกว่ารายรับจากดอกเบี้ยถึง 2% และหากสภาวะเศรษฐกิจในต่างประเทศเริ่มฟื้นตัวก็จะสามารถแก้ปัญหาได้

"ธนาคารกลางมีหน้าที่ดูและเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงิน เมื่อมีอะไรมากระแทกก็ต้องสามารถทำงานเพื่อลดแรงกระแทกได้ ซึ่งต้องใช้งบดุลรองรับการทำหน้าที่ดังกล่าว"นายประสาร กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ