ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ยูโรร่วงเทียบดอลล์ หลัง GDP ยูโรโซนหดตัวใน Q4/55

ข่าวต่างประเทศ Friday February 15, 2013 07:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สกุลเงินยูโรร่วงลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (14 ก.พ.) หลังจากสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) รายงานว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของยูโรโซนหดตัวลงในไตรมาส 4/2555

ค่าเงินยูโรร่วงลงแตะระดับ 1.3347 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันพุธที่ 1.3449 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์พุ่งขึ้นแตะระดับ 1.5484 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.5442 ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 0.9228 ฟรังค์ จากระดับ 0.9157 ฟรังค์ แต่อ่อนแรงลงเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 93.02 เยน จากระดับ 93.47 เยน

สกุลเงินยูโรร่วงลงหลังจากยูโรสแตท รายงานว่า จีดีพีของกลุ่มยูโรโซนหดตัวลง 0.6% ในไตรมาส 4 ปี 2555 เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส และเมื่อเทียบเป็นรายปี จีดีพียูโรโซนหดตัว 0.9% เนื่องจากการหดตัวของเศรษฐกิจในประเทศยักษ์ใหญ่อย่างเยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี

โดยเศรษฐกิจฝรั่งเศสหดตัวลง 0.3% ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2555 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่จีดีพีเยอรมนีในไตรมาส 4 ปี 2555 หดตัวลง 0.6% จากไตรมาส 3 ปีเดียวกัน และจีดีพี เบื้องต้นของอิตาลีในช่วงไตรมาส 4 ปี 2555 หดตัวลง 0.9% จากไตรมาสก่อนหน้า

ส่วนสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงหนุนหลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 9 ก.พ. ร่วงลง 27,000 ราย แตะระดับ 341,000 ราย ซึ่งลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะอยู่ที่ 360,000 ราย สะท้อนให้เห็นว่าตลาดแรงงานของสหรัฐยังคงฟื้นตัว

ขณะที่สกุลเงินเยนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ขานรับรายงานที่ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ไม่ได้ประกาศใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินเพิ่มเติมในการประชุมครั้งล่าสุด โดยบีโอเจต้องการประเมินผลกระทบของการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% ขณะเดียวกันบีโอเจยังได้ปรับเพิ่มการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นในการประชุมครั้งนี้ด้วย

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า ที่ประชุม G-20 ในศุกร์และวันเสาร์นี้ที่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย ที่ประชุมจะต้องหารือกันเรื่องการหลีกเลี่ยง "สงครามค่าเงิน" โดยประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ส่วนหนึ่งต่างวิพากษ์วิจารณ์ว่าญี่ปุ่นพยายามกดค่าเงินเยนให้ต่ำลง ซึ่งประเด็นนี้อาจทำให้ญี่ปุ่นถูกโจมตีในการประชุม G-20 และอาจถูกกดดันให้หยุดใช้นโยบายที่มีอิทธิพลอย่างมากต่ออัตราแลกเปลี่ยน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ