กระทรวงพลังงานได้วางแผน PDP 2011 ในอีก 10 ปีข้างหน้า ต้องมีไฟใช้ถึง 70,000 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันสามารถผลิตไฟได้เพียง 32,000 เมกะวัตต์ ขณะนี้กำลังใช้ไฟในอีก 10 ปีข้างหน้าต้องเพิ่มอีก 40,000 เมกะวัตต์ ซึ่งกำลังหาทางตั้งโรงไฟฟ้าเพิ่มเพื่อจะผลิตไฟฟ้า
รมว.พลังงาน กล่าวว่า ไฟฟ้าเป็นหัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจที่มีความต้องการใช้เป็นจำนวนมาก และต้องการต้นทุนไฟฟ้าราคาต่ำ ซึ่งปัจจุบันราคาไฟฟ้าอยู่ที่ 3.73 สตางค์ ปีที่แล้วอยู่ที่ 3.20 สตางค์ เพราะค่า ft ขึ้นมา 50 กว่าสตางค์ ถ้าปีนี้ขึ้นอีก 50 สตางค์ ก็เป็น 4 บาทกว่า ประการที่ 2 กระทบต่อผู้บริโภค ผู้อยู่อาศัย 40 ล้านครัวเรือนก็มีผลกระทบด้วยเช่นกัน
"การแสวงหาแหล่งพลังงานถูกๆ เราจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำอย่างยิ่งยวด พลังงานไฟฟ้ามาจากหลายแหล่ง เช่น มาจากน้ำ นิวเคลียร์ ถ่านหิน เป็นพลังที่ถูกที่สุด พลังงานที่สูงขึ้นมากคือพลังงานที่มาจากก๊าซธรรมชาติ พลังงานทดแทน มีราคาที่แพงมาก เช่น Solar Energy 1 หน่วย 10 บาทกว่า และพลังงานลมประมาณ 7 บาทกว่า รวมแล้วถ้าซื้อพลังงานทดแทนมากๆ ต้นทุนก็สูง แต่ประเทศที่เจริญแล้วเขานิยมใช้พลังงานทดแทน เพราะประเทศที่เขาอยากทานสเต็กทานได้ทุกวัน แต่คนไทยยังมีฐานะไม่เพียงพอที่จะทานสเต็กได้ทุกวัน ดังนั้นเราจึงต้องใช้พลังงานที่ราคาถูก" นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว
รมว.พลังงาน กล่าวว่า ขีดความสามารถในการแข่งขันในภูมิภาคอาเซียนของไทยอยู่ในระดับใกล้เคียงกันแต่ยังต่ำกว่าเพื่อนบ้านเล็กน้อย เพราะเพื่อนบ้านนั้นราคาไฟฟ้าเขาใช้ราคาต้นทุนพลังงานที่เป็นจริงของราคาตลาดโลก แต่ประเทศเราใช้การอุดหนุนอยู่ เช่น แก๊ส เรายังใช้การอุดหนุนอยู่ทำให้ไฟฟ้าราคาต่ำ แต่ปล่อยแก๊สลอยตัวเมื่อไหร่ราคาไฟฟ้าก็แพงขึ้น พอขึ้นแล้วการแข่งขันของอุตสาหกรรมกับประเทศเพื่อนบ้าน และคนอื่นๆ จะทำให้มีความลำบากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันพลังงานไฟฟ้าที่ประเทศไทยผลิตมาจากก๊าวธรรมชาติถึง 70% ซึ่งกำลังจะเกิดปัญหาใหญ่ในเร็วๆ นี้ ปัญหาแรกมาจากท่อก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง JDA ไทย-มาเลเซีย ในเขตที่พัฒนาพื้นที่แหล่งแก๊สธรรมชาติร่วมกัน เนื่องจากท่อถูกแท้งเกอร์โยนสมอลงไป และทำให้ท่อส่งแก๊สขาดลง เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2555 ทำให้การจัดส่งก๊าซฯ หายไปถึง 270 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ประการที่ 2 แท่นขุดเจาะของประเทศพม่ามีการทรุดตัวลงก็จะเกิดความเสียหายก็ต้องซ่อมแซมใหม่ การปิดท่อแก๊สจากพม่าเป็นแหล่งใหญ่ ซึ่งซัพพลายแก๊สให้ประเทศไทย วันละ 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ซึ่งทั้ง 2 แหล่งรวมกันจะหายไปประมาณ 1,370 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน
"เดือนเมษายนไฟฟ้าที่ไม่มีก๊าซธรรมชาติมารองรับจะหายไปถึง 4,100 เมกะวัตต์ การหายไปเป็นจำนวนมาก เรามีการเตรียมสำรองว่าจะนำโรงไฟฟ้าเก่าๆ ที่เราปิดใช้แล้วก็กลับมาเปิดใช้ใหม่เป็นการใช้น้ำมันเตา น้ำมันดีเซลมาผลิตไฟฟ้าเพื่อรองรับ แต่คิดว่ายังคงไม่เพียงพอ กระทรวงพลังงานกำลังเตรียมประกาศภาวะฉุกเฉิน เพื่อให้ประชาชนทุกคนประหยัดไฟ อาจจะใช้ไฟแค่ 1 ดวง หรือลดการปิดแอร์ ห้ามเปิดแอร์ในเวลาที่ไม่เหมาะสม เพราะต้องการให้อุตสาหกรรมไปต่อได้ เพื่อให้รายได้ประเทศนั้นอยู่ได้" นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว
รมว.พลังงาน กล่าวว่า กำลังมีการประชุมใหญ่ในสัปดาห์หน้าที่กระทรวงพลังงาน เพื่อวางแผนซักซ้อมรองรับวิกฤต เพราะว่าก่อนจะเกิดวิกฤตนั้นคงจะเริ่มวันที่ 4 เม.ย.56 ขณะเดียวกันจะประสานกับประเทศพม่า บริษัทที่ดูแลแท่นขุดเจาะว่าสามารถเลื่อนการซ่อมออกไปสัก 2-3 วันได้หรือไม่ เช่น ช่วงวันที่ประชาชนอาจจะไปเที่ยววันหยุดยาวช่วงเทสกาลสงกรานต์ก็จะทำให้ภาวะการใช้ไฟลดน้อยลง
"เราเคยเจอ แต่ไม่หนักเท่าสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งผมจะเรียนว่าเป็นสิ่งที่เมืองไทยและสังคมไทยจะต้องพึงสังวรณ์เรื่องในอนาคต เรายังพึ่งพาก๊าซธรรมชาติมาก และต่อไปอีก 8-9 ปี ข้างหน้าสัมปทานก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยก็จะหมด และมีคนคิดต่อต้านไม่ให้สร้างโรงไฟฟ้าน้ำ โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าแก๊ส ก๊าซสัมปทานก็ไม่ให้ต่อทุกคนต้องแข็งใจว่าจะเลือกทางไหน ทางเดินของอนาคตของประเทศเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับกระทรวงพลังงานยืนยันว่าจะต้องต่อสู้เพื่อที่จะสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนว่าสิ่งเหล่านี้จำเป็นจะต้องทำ และต้องขยายเพื่อให้ประเทศเติบโต ก้าวหน้าทางเศรษฐกิจต่อไป" นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว
รมว.พลังงาน กล่าวว่า ต่างชาติกว่าจะลงทุนเรื่องอุตสาหกรรม หรือลงทุนเรื่องธุรกิจต้องมองเรื่องไฟฟ้าเป็นอันดับแรก หรือพลังงานอันดับแรกว่า เช่น พลังงานมีก๊าซธรรมชาติหรือไม่ มีน้ำมันหรือไม่ มีไฟฟ้าหรือไม่ และมีแล้วความมั่นคงอยู่ตรงไหน มีขึ้นๆ ลงๆ ไฟดับๆ หรือไม่ เพราะเครื่องจักรบางอย่างไม่สามารถให้ไฟกระพริบได้ เพราะเครื่องจักรจะเสียหาย มีความต่อเนื่องและมีความถี่สม่ำเสมอไม่กระทบเครื่องจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานที่ทำเกี่ยวกับ IT เครื่องจักรมีความสั่นไหวมากต่อกระแสไฟฟ้า และมีการซัพพลายอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
"การที่เรามีคนหน่วย NGO คอยตรวจตราการทำงานของรัฐบาลว่ามีผลกระทบต่อพี่น้องหรือไม่เป็นสิ่งที่ดีมาก ผมต้องยอมรับ แต่ NGO ต้องมีจริยธรรมและคุณธรรมด้วยว่า ในกรอบของการต่อต้านนั้นต้องอยู่ในกรอบที่ว่าเราทำภายใต้เงื่อนไข และมาตรฐานของโลกหรือไม่ เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินควรจะต่อต้านว่ามีมิชชั่น Co 2 ออกมาเป็น CO TO มากน้อยขนาดไหน มีฝุ่นขนาดไหน มีซัลเฟอร์มากน้อยแค่ไหน มีไนโตรเจนมากขนาดไหนที่ออกมาเกินมีฝุ่นละอองเกินกว่าลิมิต ถ้าทำต่ำกว่าลิมิต เดี๋ยวนี้มีเทคโนโลยีที่สะอาดเป็นสีเขียว และเป็นที่ท่องเที่ยว ไม่มีมลภาวะ เหล่านี้เป็นประโยชน์ ถ้าเราสามารถทำผ่านจุดต่างๆ เหล่านี้เราต้องยอมรับ แต่บางคนแม้แต่ผ่านจุดมาตรฐานแล้วก็ไม่ยอมรับ ซึ่งอันนี้เป็นการบิดเบือนข้อมูลให้ประชาชนเข้าใจผิด อันนี้ผมขอร้องว่าการเป็น NGO ต้องมีคุณธรรมและจริยธรรมด้วยในการต่อสู้ตรงนี้ อย่างเรื่องพลังน้ำ เวลาน้ำท่วมทุกคนหายหมดเลย เพราะน้ำท่วมเกิดความเสียหายอย่างมาก การสร้างเขื่อนก็ไม่ได้กระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร เพราะบางครั้งการกระทบต่อบ้านเรือนต่างๆ บางคนมีส่วนน้อยก็ต้องชดเชยให้ บางส่วนก็ต้องดูแล มีการวางแผนอย่างต่อเนื่อง แต่ก็สร้างกระแสไฟฟ้าได้ส่วนหนึ่ง แต่สร้างความป้องกันเสียหายจากคนที่ถูกน้ำท่วม คนที่บาดเจ็บ เสียหายจากน้ำท่วมมีมากมาย หลายคนก็ต้องการแบบนี้ เป็นต้น อันนี้ก็ต้องทำ ผมคิดว่าวิธีการที่ดีสุด ประเทศต้องปรับเปลี่ยน กระทรวงพลังงานต้องปรับเปลี่ยนว่าต้องให้การเรียนรู้กับประชาชน ให้เข้าใจเรื่องต่างๆ เหล่านี้ ดังนั้นผมจึงต้องทำแคมเปญให้ประชาชนเข้าใจ จัดตั้งหน่วยงานที่อาสาสมัครพลังงานไปเดินอธิบายหรือชี้แจงต่อประชาชน" นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว
ปัจจุบันได้เปิดศูนย์แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และจะมีศูนย์เรียนรู้ กระทรวงพลังงานเปิดการอบรมเรื่องพลังงานหลายๆ รุ่น และเปิดในต่างจังหวัด ในสัปดาห์หน้าเราจะมีการประชุมพลังงานทั่วประเทศ เพื่อจะชี้แจงนโยบายเรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน เรื่องพลังงานต่างจังหวัดก็จะมีทั่วประเทศ ประชุมเสร็จก็จะกลับไปดำเนินเรื่องนี้
"ยังต้องส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน อย่างน้อยให้ประชาชนเรียนรู้ว่าพลังงานที่เป็นฟรีพลังงานต้นทุนแพง เช่น โซล่าเซลล์ จริงๆ แล้วเราต้องซื้อไฟจากคนที่ผลิตโซล่าเซลล์หน่วยละ 10 บาท คิดดูว่าประชาชนจะยอมจ่ายค่าไฟ 10 บาท หรือไม่ ร้องเสียงดังเลย เพราะว่าปัจจุบันแค่ 3-4 บาท ผมคิดว่าถ้าให้ประชาชนซื้อไฟ 10 บาท ถือว่ากระทบ แต่เราให้ประชาชนเรียนรู้ว่าไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ในบางจุดที่มีส่งไฟฟ้าไปใช้ก็สามารถใช้ได้ เช่น ที่จังหวัดพะเยา กว๊านพะเยา เขาทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว เราเดินสายไฟรอบกว๊านพะเยาค่าสายไฟแพง เราก็ตั้งเสาและแผงโลล่าเซลล์อยู่บนเสาไฟ สมมุติกลางคืนไฟก็ติด ซึ่งตรงนี้จะถูก เป็นต้น ก็เหมาะสม" นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว
รมว.พลังงาน กล่าวว่า โรงงานแก๊สชีวภาพอัด หรือ CBG ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่ง เป็นแนวทางเลือกของการใช้พลังงานของก๊าซมีเทน เป็นเรื่องที่ดีและมีอนาคตของประเทศไทย แก๊สชีวภาพหรือแก๊สทำจากมูลสัตว์ อันนี้คือทำจากมูลหมู และน้ำเสียจากการเลี้ยงหมู จากฟาร์มสุกรก็ออกมาและทำจากหญ้าเนเปียร์ส่วนหนึ่งผสมกัน ซึ่งจะใช้อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ก็จะเกิดแก๊สชีวภาพขึ้นมา แก๊สชีวภาพตรงนี้เราก็จะไปดึงความชื้นออก ดึงซัลเฟอร์ออก คาร์บอนไดอ๊อกไซด์ออก ก็ทำให้เป็นแก๊ส CBG คือแก๊ส NGV ที่เราขายอยู่ทุกวันนี้มีคุณสมบัติเท่ากัน ซึ่งในจังหวัดไกลๆ ที่มีแนวท่อ เราหาแก๊ส NGV ไม่ได้ เพราะค่าขนส่งแพงก็สามารถไปตั้งในจังหวัดต่างๆ ได้ จังหวัดตามชายแดน เช่น จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสระเกษ จังหวัดเชียงรายเป็นต้น ก็สามารถนำรถไปเติม NGV ได้ ซึ่งทำให้คนซื้อแก๊สสามารถซื้อได้ในราคาที่ถูกลง ประการที่ 2 แก๊สชีวภาพตรงนี้ นอกจากทำเป็นแก๊ส ขนส่งแล้ว เรายังสามารถผลิตไฟฟ้าได้ ฉะนั้นถ้าอนาคตเราส่งเสริม เราปลูกพืชหญ้าเนเปียร์มาผลิตแก๊สตรงนี้จะทำให้เราได้ค่าไฟฟ้าประมาณ 4.50 สตางค์ ตอนนี้เรา 3.70 สตางค์ ดังนั้นถ้าค่าไฟขึ้นไปเรื่อยๆ เกิน 4.50 สตางค์ อันนี้จะถูกกว่า ซึ่งจะเป็นไฟฟ้าจากแก๊สชีวภาพที่มีอนาคต
"ช่วงนี้ทางกระทรวงจะทำการทดลองเปิดร่วมกับเอกชนยังไม่ทราบว่ากี่แห่ง อาจจะ 4-5 แห่ง เพื่อให้เป็นโมเดลที่ดีและให้ประชาชนได้มาดู และเอกชนก็ไปลงทุนเอง ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าถ้าทำได้ 10,000 เมกะวัตต์ ก็จะช่วยให้ลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติได้มาก" นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว
รมว.พลังงาน กล่าวว่า เรื่องนี้กำลังพูดคุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออก เพราะกฎหมายเดิมเขียนไว้ว่าการต่อสัมปทานต่อได้ครั้งเดียว ถ้าอีก 8 ปีหมดก็ต้องออกกฎหมายเพื่อต่อสัมปทานใหม่ ซึ่งต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชนให้เข้าใจในเรื่องของความสำคัญแหล่งแก๊สธรรมชาติที่มีอยู่ในอ่าวไทย ซึ่งเดิมก่อนผมเข้ามาก็มีกลุ่มคนหลายๆ กลุ่มไปปลุกระดมชาวบ้านไว้มากต่อต้านการต่อสัมปทานต่างๆ วิธีการต่อต้านสัมปทาน ได้เงินค่าสัมปทานน้อย ซึ่งผิดข้อเท็จจริง ขณะนี้ได้สั่งการให้กรมเชื้อเพลิงชี้แจงเรื่องนี้ไปทั่วประเทศ เมื่อชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจแล้ว จึงมาตัดสินใจว่าจะดำเนินการนโยบายอย่างไรต่อไป
ส่วนการปรับราคาพลังงานให้เป็นมาตรฐาน และเป็นธรรมทั้งประเทศ ทั้งระบบ เนื่องจากประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่อาเซียน เราตกลงกันว่าในสิ้นปี 2558 เราจะให้ทุกอย่างเป็นราคา Free Market ดังนั้นทุกอย่างต้องเป็นไปตามกลไกตลาด และสิ่งที่เราซัพไพซ์อยู่ก็จะทำไม่ได้ เราต้องปรับตัวของตัวเราเองให้ประชาชนเข้าใจ ในเรื่องของพลังงานแต่ละแห่ง เราต้องเลือกว่าอะไรทำก่อนทำหลัง อะไรที่จะกระทบคนมีรายได้น้อย เราทำทีหลัง เช่น แก๊สหุ้งต้มที่มีปัญหา คนรายได้น้อยอาจจะยังรับไม่ได้ เราก็ต้องรอให้ค่าแรง 300 บาท ปรับตัวสักระยะหนึ่งก่อน เรารักษาให้คนซื้อแก๊สหุ้งต้มราคาเดิม คนรายได้น้อยก็จะอยู่ได้สัก 1-2 ปี ก่อนที่อาเซียนจะปรับขึ้นมากก็ค่อยๆ ปรับขึ้น ส่วนคนรวยที่ใช้แก๊สหุ้งต้มอยู่ เขามีฐานะดีก็ให้เขาปรับขึ้นไปเลย ตรงนี้เราก็น้อยลง เพื่อสร้างความเคยชิน
"พอเราไปอุดหนุน LPG ขึ้นมา ปรากฎว่าคนที่อุดหนุน คนที่มาช่วยคือคนที่ใช้น้ำมัน แก๊ส LPG ขยับขึ้นมา คนซื้อเบนซินก็จะลดลง เพราะทุกวันนี้คนที่ใช้น้ำมันรถเบนซินมาช่วยอุดหนุนคนใช้ LPG" นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว