รมว.พลังงาน มอบนโยบายพัฒนาพลังงาน 7 ข้อให้คนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 18, 2013 11:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รมว.พลังงาน มอบนโยบายและทิศทางการทำงาน 7 ข้อให้ผู้บริหารและข้าราชการในสังกัด โดยเน้นเรื่องความสมดุลทางนโยบายระหว่างการพัฒนาพลังงานที่มีอยู่เพื่อความมั่นคงทางพลังงานและการพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่ออนาคต ภายใต้ยุทธศาสตร์เพื่อกำหนดทิศทางในการขับเคลื่อน 3 ด้าน เพื่อให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน กล่าวว่า ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จาก GDP ของไทยที่เพิ่มขึ้น มีมูลค่ารวมกว่า 10 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน ภาคเศรษฐกิจที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนสูงถึง 39% ภาคการท่องเที่ยวและบริการ 25% และภาคเกษตรกรรม 8.6%

"ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศที่มีรายได้น้อยดังเช่นในอดีตแล้ว เราขยับขึ้นมาอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลาง(Medium Income Country) ซึ่งประเทศไทยก็อยู่ในสถานะที่ดีกว่าหลายๆ ประเทศ แต่ถึงอย่างไรเราก็ไม่ควรที่จะอยู่นิ่ง เราจำเป็นต้องพัฒนาประเทศเพื่อให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม" นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

ดังนั้นรัฐบาลจึงได้กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนหลักใน 3 ด้าน ยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า Country Strategy ประกอบด้วย 1.ยุทธศาสตร์สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ(Growth and Competitiveness) เพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งมีเป้าหมายให้เศรษฐกิจขยายตัวและคนไทยมีรายได้ต่อหัวมากขึ้น 2.ยุทธศาสตร์สร้างโอกาสบนความเสมอภาคและเท่าเทียมกันในสังคม(Inclusive Growth) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และ 3.ยุทธศาสตร์การเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม(Green Growth) มีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง

รมว.พลังงงาน กล่าวว่า ได้กำหนดทิศทางและนโยบายในการขับเคลื่อนการพัฒนาพลังงานอย่างไม่หยุดนิ่ง โดยจะต้องเน้นย้ำและให้ความสำคัญมากที่สุด คือความสมดุลทางนโยบายระหว่างการพัฒนาพลังงานที่มีอยู่เพื่อความมั่นคงทางพลังงานและการพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่ออนาคต โดยมีแนวทางนโยบายสำคัญ 7 ข้อ ได้แก่

1.นโยบาย Energy Bridge ประเทศไทยมีความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ มีชายฝั่ง(Coastline) ทั้ง 2 ด้าน คือ ฝั่งทะเลอันดามัน และฝั่งอ่าวไทย สามารถใช้จุดแข็งนี้มาเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมระบบการค้าเพื่อพัฒนาประเทศ ฝั่งตะวันตกของประเทศไทยมีประเทศที่กำลังเติบโตอย่างมาก เช่น อินเดีย ตะวันออกกลาง และอัฟริกา ส่วนฝั่งตะวันออกก็เป็นทางที่ไปยัง จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย รวมถึงสหรัฐอเมริกา และอเมริกาใต้ได้ ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อกลุ่มประเทศ BRICS(Brazil, Russia, India, China and South Africa) ในอนาคตอีก 10-20 ปีข้างหน้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น การใช้น้ำมันก็จะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ดังนั้นปริมาณน้ำมันที่ผ่านจากศูนย์กลางการผลิตในตะวันออกกลางไปยังศูนย์กลางการบริโภคในเอเชียก็จะสูงขึ้น การพัฒนา Energy Bridge เพื่อเชื่อมโยงการค้าน้ำมันที่ผ่านทางฝั่งทะเลอันดามันมายังฝั่งอ่าวไทยจะเป็นการเปิดโอกาสใหม่ให้กับประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการขนส่งน้ำมันของภูมิภาค รวมถึงจะก่อให้เกิดอุตสาหกรรมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ ที่จะต่อยอดตามมา

2.นโยบายกำหนดราคาน้ำมันเท่ากันทั่วประเทศ เป็นนโยบายที่จะมีส่วนในการสร้างความเสมอภาค และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงพลังงานให้กับประชาชน โดยจะกำหนดให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในทุกพื้นที่ของประเทศไทยเท่ากัน โดยอาศัยท่อขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งที่ปลายท่อฯจะมีคลังน้ำมันทำให้ทุกคนได้ใช้น้ำมันในราคาเดียวกัน

3.นโยบายสำรองเชื้อเพลิงเชิงยุทธศาสตร์ เป็นการสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศในอนาคตกรณีที่น้ำมันเชื้อเพลิงเกิดขาดแคลน ซึ่งแนวคิดดังกล่าวอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในรูปแบบการจัดเก็บและการก่อสร้างคลังจัดเก็บน้ำมัน

4.นโยบายการพัฒนาวิสาหกิจพลังงานทดแทนในชุมชน เป็นการผลิตพลังงานจากหญ้าเนเปียร์ซึ่งสนองตอบต่อยุทธศาสตร์ประเทศในทุกๆ ด้าน โดยก่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านพลังงานมากขึ้น และเป็นการพัฒนาพลังงานทดแทน ลดความเหลื่อมล้ำ เพราะจะทำให้ประชาชนในภูมิภาคมีรายได้เพิ่มขึ้น เกษตรกรได้ประโยชน์จากการปลูกและขายหญ้าในราคาประกัน ทำให้มีรายได้ที่แน่นอน ให้ผลตอบแทนในการลงทุนที่ดีกว่าพืชเศรษฐกิจหลายชนิด

5.นโยบายการพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องจากภาคเกษตรเพื่อสร้าง New Growth ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายสำคัญของโลก เช่น อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ที่สามารถนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้ อาทิ เอทานอล นอกจากนี้อ้อยและมันสำปะหลังสามารถนำมาผลิตเป็นไบโอพลาสติก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับอนาคต สร้างมูลค่าเพิ่มจากอ้อยประมาณ 7 เท่า มูลค่าเพิ่มจากมันประมาณ 5 เท่า และผลปาล์มนำมาผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล

6.นโยบายการอนุรักษ์พลังงาน เป็นมิติที่สำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมแข่งขันในกลุ่มประเภทเดียวกัน เพื่อสร้างให้เกิดผู้ประกอบการดีเด่นหรือต้นแบบด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน แนวทางนี้จะก่อให้เกิดการแข่งขันการประหยัดพลังงานในกลุ่มอุตสาหกรรมด้วยกัน

7.นโยบายการกำกับราคาพลังงานที่ชัดเจนเพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยเฉพาะราคาก๊าซหุงต้ม(LPG) ที่มีการบิดเบือนราคามาเป็นเวลานานหลายสิบปี กระทรวงฯมีกลไกและมาตรการชัดเจนที่จะชดเชยให้กับผู้มีรายได้น้อย ไม่ให้ได้รับความเดือดร้อนจากการปรับโครงสร้างราคาพลังงานดังกล่าว รวมถึงการเข้มงวดกวดขันไม่ให้มีการลักลอบส่งออก LPG และลักลอบบรรจุผิดประเภท ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และสร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ตลอดจนขยายการให้บริการก๊าซธรรมชาติผ่านการขยายสถานีบริการ NGV เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ NGV

"นโยบายที่กล่าวมานี้จะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้เลย หากไม่มีข้าราชการ เจ้าหน้าที่ทุกคน ที่เป็นกลไกขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ให้เป็นรูปธรรม และนอกจากนี้ประชาชนก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ภารกิจของเราสัมฤทธิ์ผลไปได้ ฉะนั้นการสื่อสารสร้างความเข้าใจ และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงเป็นหัวใจหลักของการผลักดันนโยบายของกระทรวงพลังงาน เพราะแม้ว่าโครงการที่เราดำเนินอยู่จะเป็นโครงการที่ดี แต่หากประชาชนไม่เข้าใจหรือได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง โดยไม่มีการแก้ไขก็จะทำให้ไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน ดังนั้นความมั่นคงด้านพลังงานจึงต้องถูกพัฒนาไปพร้อมกับการมีส่วนร่วมภาคประชาชนคควบคู่กัน" นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ