สำหรับปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูงยังมีข้อจำกัดในการขยายตัว, ยังมีสภาพคล่องส่วนเกินในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก, สถานการณ์ภัยแล้งชะลอการผลิตในภาคเกษตร และราคาน้ำมันยังเพิ่มขึ้นเร็วกว่าพื้นฐานเศรษฐกิจ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า สาเหตุที่คงคาดการณ์ GDP ในปี 56 ว่าจะขยายตัวที่ระดับ 4.5-5.5% นั้น เพราะเชื่อว่าการบริโภคภายในประเทศยังมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องมีภาคการส่งออกเข้ามาช่วยสนับสนุนหลังจากปีก่อนที่มีอัตราการขยายตัวค่อนข้างต่ำเพียง 5% ขณะเดียวกันจะต้องมีมาตรการดูแลเรื่องค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ และคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจในอนาคตด้วย
"(เงินบาท)จะแข็งค่าหรืออ่อนค่าไม่ใช่ปัญหา เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการเองก็เคยเผชิญปัญหาดังกล่าวมาแล้ว และสามารถปรับตัวรับสถานการณ์ได้ หากเงินบาทมีเสถียรภาพ ไม่แกว่งตัว จนทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถคำนวณต้นทุนในการทำธุรกิจได้" นายอาคม กล่าว
เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้เศรษฐกิจหลังเกิดอุทกภัยเมื่อปลายปี 54 กลับมาฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ดังนั้นจะต้องสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการเชื่อว่าต่อจากนี้ไปเศรษฐกิจจะขยายตัวปีละ 4-6% ดังนั้นจึงยังมีความต้องการเม็ดเงินลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างกำลังการผลิตใหม่ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การขนส่งระบบราง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนด้านขนส่งจากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 25%
ส่วนปัจจัยเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่การปรับเปลี่ยนทุกครั้งก็จะมีทั้งข้อดี-ข้อเสียจึงเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้มาตรการขั้นรุนแรงในการแก้ไขปัญหา
เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า ส่วนกรณีปรับลดคาดการณ์ส่งออกปีนี้จะขยายตัวที่ระดับ 11% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 12.2% เพราะก่อนหน้านี้เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยจะฟื้นตัวได้เร็วขึ้นจากมาตรการแก้ปัญหาหน้าผาการคลังของสหรัฐ แต่ในความเป็นจริงแล้วสหรัฐยังไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ เป็นเพียงมาตรการที่ช่วยยืดเวลาในการแก้ปัญหาดังกล่าวออกไปเท่านั้น ดังนั้นจึงเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้ช้ากว่าเดิม
"ภาพรวมเศรษฐกิจโลกแม้จะฟื้นตัวได้จริง แต่ก็อาจจะช้ากว่าเดิม เราจึงปรับลดเป้าหมายการส่งออกลงเล็กน้อย แม้เศรษฐกิจโลกยังมองว่าดี แต่เราต้องมั่นใจและปรับให้สอดคล้องกับหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ" นายอาคม กล่าว
โดยการส่งออกไปยังสหรัฐ แม้ยังคงมีปัญหาเศรษฐกิจแต่ก็ยังมีความจำเป็นในการบริโภค โดยสินค้าที่เห็นว่ามีศักยภาพทำตลาด ได้แก่ อาหารปลอดสารพิษ อาหารฮาลาล และสินค้าเพื่อสุขภาพ ขณะเดียวกันการส่งออกไปยังตลาดการค้าชายแดนประเทศเพื่อนบ้านยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี