BOI มั่นใจยุทธศาสตร์ใหม่เพิ่มศักยภาพอุตฯยาง-ปาล์ม-พลังงาน-ท่องเที่ยวภาคใต้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 18, 2013 12:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายในงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นเรื่อง “ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่: เพื่ออุตสาหกรรมไทยเติบโตอย่างยั่งยืน" ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ว่า มั่นใจว่า แนวทางของยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าจากทรัพยากรด้านการเกษตรของภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมยาง อาหารแปรรูป น้ำมันปาล์ม กิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ ตลอดจนช่วยส่งเสริมกิจการท่องเที่ยวในภาคใต้ซึ่งถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำของประเทศ

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและปัจจัยต่างๆ ภายในประเทศได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบในวงกว้าง บีโอไอจึงมีความจำเป็นต้องทบทวนและปรับปรุงบทบาท และทิศทางยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับบริบทใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยจะมุ่งเน้นสนับสนุนอุตสาหกรรมที่มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน และอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารแปรรูป ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไทย

ด้านนายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ กล่าวว่า หลังจากนี้ บีโอไอก็จะจัดสัมมนาใหญ่รอบพิเศษขึ้นอีกครั้ง เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนไทยและต่างชาติ ตลอดจนความเห็นจากองค์กรภาคธุรกิจ ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าไทย ก่อนที่จะเสนอคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนให้ความเห็นชอบ ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปีหน้า 2557

"บีโอไอมิได้ปรับเปลี่ยนเฉพาะเรื่องการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรและประเภทกิจการที่จะให้ส่งเสริมเท่านั้น แต่เราจะปรับปรุงบทบาทขององค์กร เพื่อให้สามารถดูแลและเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนของประเทศให้เอื้อต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ ตลอดจนพัฒนาระบบการให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนอย่างครบวงจร ตั้งแต่การให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน การสร้างเครือข่ายภาคธุรกิจ การสร้างความพร้อมของปัจจัยสนับสนุนการลงทุน การป้องกันและแก้ไขปัญหาของนักลงทุน รวมทั้งการเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศด้วย"เลขาธิการบีโอไอกล่าว

ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2551 — 2555 มีโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมในภาคใต้จำนวน 526 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนสูงถึง 1.5 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6 ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนของทั้งประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ