ทั้งนี้ หากจะมีการเข้าไปแทรกแซงค่าเงินก็อาจจะทำให้มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นมาตรการที่พอจะทำได้และได้ผลเร็ว คือ มาตรการเรื่องดอกเบี้ย ซึ่งในเรื่องนี้คงต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลโดยตรง
"หากเราแทรกแซง แน่นอนเรามีต้นทุนแน่ แต่ถ้าเราดูมาตรการที่ทำได้เร็ว เรื่องดอกเบี้ยอาจทำได้เร็ว อาจมีผลในการสกัด(Hot Money) เพราะดอกเบี้ยที่ไหนสูง เงินก็ไปที่นั่น แต่ยาแรงเราคงยังไม่ใช้ แต่ก็ต้องอยู่ที่ผู้มีหน้าที่ดูแลค่าเงินจะต้องชั่งน้ำหนักให้ดี" เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าว
พร้อมมองว่า อัตราดอกเบี้ยของไทยในขณะนี้ถือว่าอยู่ในระดับต่ำ แต่ต่ำเพียงพอหรือไม่ หรือควรจะต่ำลงไปกว่านี้อีกหรือไม่นั้นต้องขึ้นอยู่กับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 20 ก.พ.นี้ อย่างไรก็ดี การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในช่วงปี 54-55 ได้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนให้ต้นทุนในการลงทุนของภาคเอกชน และต้นทุนการกู้ยืมลดต่ำลง ส่งผลให้เกิดการบริโภคที่เพิ่มขึ้นในปี 55 และคาดว่าการบริโภคจะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีกในปีนี้
นายอาคม กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยของ กนง.ควรจะลดในระดับที่สามารถช่วยสกัดการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศได้ เพราะถ้าหากไม่มากพอก็ไม่สามารถสกัดกั้นเงินทุนที่ไหลเข้ามาได้ เนื่องจากขณะนี้ต่างชาติมองว่าพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยดี และประเทศไทยไม่มีมาตรการใดๆ ออกมาซึ่งแตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านในแถบภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน ซึ่งหากจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 10-25 สตางค์อาจจะน้อยเกินไป ซึ่งจะต้องพิจารณาโดยอิงจากอัตราดอกเบี้ยของไทยกับสหรัฐอเมริกา และอัตราดอกเบี้ยของไทยเทียบกับประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วย
"ดอกเบี้ยเวลาจะลด ถ้าลดไม่มากพอมัน(เงินทุน)ก็ยังไหลเข้า ต้องมากพอที่จะช่วยสกัดเงินไหลเข้าได้ ที่บอกว่าไม่มากพอ เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจเราดี ยังเชื่อมั่น คุณลดเงินนิดเดียว เขาก็ dump เงินเข้ามา ต้องลดเพียงพอให้เขารู้ว่าประเทศไทยเอาจริง" เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าว พร้อมระบุว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยควรจะดำเนินการไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่หากจะทำในขณะนี้ก็ถือว่ายังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
ส่วนสถานการณ์ค่าเงินบาทในปีนี้ ประเมินว่า ค่าเงินบาทน่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 30 บาท/ดอลลาร์ แต่สิ่งสำคัญคือการทำอย่างไรให้เงินบาทมีเสถียรภาพ เพราะถ้าหากเงินบาทมีการเปลี่ยนแปลงไป 10% ก็ควรจะมีมาตรการทางด้านดอกเบี้ยออกมาบ้าง เพราะในขณะนี้ ธปท.ยึดอัตราดอกเบี้ยไปผูกติดกับอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งสภาพัฒน์มองว่าเงินเฟ้อไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ เพราะราคาน้ำมันก็ได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นแล้ว และเชื่อว่าโครงสร้างพื้นฐานจะมีส่วนช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งทำให้ระยะยาวราคาน้ำมันไม่มีผลเท่าที่ควร