ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้ประกาศนี้จะนำไปสู่การพิจารณาหาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิตสินค้าเกษตร การรักษาเสถียรภาพด้านราคา และอุปสงค์ อุปทานในอนาคต
นายยุคล กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้แปลงยุทธศาสตร์ประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างความสามารถในการแข่งขันประเทศ กลยุทธ์ การจัดการใช้ที่ดินประเทศ (Zoning) ไปสู่การปฏิบัติ โดยได้ดำเนินการออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การกำหนดเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยวิเคราะห์ความเหมาะสมของที่ดิน คุณสมบัติของดิน ร่วมกับความต้องการธาตุอาหารของพืชแต่ละชนิด ตามสภาพที่มีการเพาะปลูกพืช ร่วมกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อาทิ เขตป่าไม้ตามกฎหมาย เขตพื้นที่โครงการชลประทานประกอบการพิจารณากำหนดเขตเหมาะสม ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจของผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเกษตรกรในการพิจารณาสร้างความสามารถในการแข่งขันของแต่ละหน่วยผลิต
โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะนำข้อมูลเขตเหมาะสมที่ประกาศไปวิเคราะห์ สังเคราะห์ ทำความเข้าใจร่วมกับส่วนราชการและภาคเกษตรกรที่เกี่ยวข้องในจังหวัด ให้รับรู้และเข้าใจศักยภาพที่แท้จริงของตนเองและร่วมกันคิดสร้างสรรค์แนวทางการปรับเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพ หาทางเลือกดำเนินการผลิตที่เหมาะสมกับศักยภาพของภูมิสังคมของตนเองและยกระดับความสามารถในการแข่งขัน โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ข้อมูลสนับสนุนหรือประสานความร่วมมือในการหาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ การปรับเพิ่มผลิตภาพของทรัพยากรดินและน้ำ การกำกับดูแลให้มีการซื้อขายปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพมาตรฐาน การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การประสานอำนวยความสะดวกทางการตลาด การบริหารตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร อันเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการขับเคลื่อนให้เกษตรกรปรับวิธีคิดเป็น Smart Farmer ไปพร้อมกับการพัฒนาเจ้าหน้าที่ให้เป็น Smart officers และในที่สุดจะนำไปสู่การปฏิรูปภาคการเกษตรของประเทศไทยที่สามารถแข่งขันได้ในอาเซียนและในตลาดโลก
"ประโยชน์สำคัญที่จะได้จากการบริหารจัดการการใช้ที่ดินของประเทศ Zoning จะทำให้เกษตรกรลดต้นทุนจากการทำการเกษตรเนื่องจากปัจจัยการผลิตได้ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับความต้องการของพืชแต่ละชนิด ผลผลิตมีปริมาณและคุณภาพเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีรายได้สุทธิจากการจำหน่ายผลผลิตเพิ่มขึ้น เช่น ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมประสิทธิภาพการผลิตข้าวอยู่ที่ 715 กิโลกรัมต่อไร่ (ณ ความชื้นร้อยละ 14) ซึ่งในพื้นที่เช่นนี้การจะปรับเพิ่มปริมาณ คุณภาพและมาตรฐาน จะทำได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น" รมว.เกษตรฯ กล่าว