"ขณะนี้สัญญาณฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังน้อยมาก ซึ่งเห็นว่าฟองสบู่จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมากๆ เป็นเวลานานๆ เหมือนในสหรัฐ ขณะที่อสังหาริมทรัพย์บูมมากๆ อย่างไร้เหตุผล แต่อสังหาริมทรัพย์ยังไม่ร้อนแรงเลยเทียบกับปี 2540 แต่เราก็ไม่ประมาท ต้องระวังการขยายตัวของสินเชื่อภาคที่อยู่อาศัยที่โตค่อนข้างสูง และควรเพิ่มมาตรการป้องกันการเกิดปัญหาฟองสบู่ เช่น กำหนดเงินดาวน์ขั้นต่ำเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 5-10% ให้เป็นมาตรฐานเดียวกับโลกที่เก็บอย่างน้อย 20%" นายกิตติ กล่าว
ด้านนายทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการสำนักนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์คาดว่ายังคงขยายตัวได้ไม่ร้อนแรงจนน่าเป็นห่วง มีเพียงบางจังหวัดและบางพื้นที่ในกรุงเทพมหานครที่อาจมีปัญหาต้องจับตาดูอยู่บ้าง
อย่างไรก็ตาม ปีนี้เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ 5% แต่ต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ทั้งสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น และความไม่สมดุลภายในประเทศที่ประชาชนมีการใช้จ่ายเกินตัว
"ในยามที่เศรษฐกิจขยายตัว ภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย ซึ่งปีนี้ก็เช่นเดียวกัน ขอเพียงอย่าเกิดวิกฤตอะไรเกิดขึ้นอีก เพราะเมื่อเกิดวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์จะเป็นธุรกิจที่เจ็บตัวมากที่สุด ฟื้นตัวช้าที่สุด และกระทบต่อเศรษฐกิจค่อนข้างมาก เนื่องจากอสังหาริมทรัพย์มีสัดส่วนคิดเป็น 7% ของจีดีพี สินเชื่อขยายตัวถึง 17% ประกอบกับเป็นธุรกิจที่ใช้แรงงานค่อนข้างมาก" นายทรงธรรม กล่าว