รมว.พาณิชย์ เผยผลหารือเอกชนเห็นชอบตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อผลักดันส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 18, 2013 16:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า หลังหารือกับผู้บริหารสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยแล้วเห็นชอบให้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้น 2 ชุด โดยชุดแรกเป็นคณะทำงานเฉพาะกิจ 3 ฝ่าย ได้แก่ ภาครัฐบาล เอกชน และประชาสังคม ทำหน้าที่ติดตามการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายจะประกาศเร่มต้นการเจรจาอย่างเป็นทางการระหว่างที่นายกรัฐมนตรีของไทยเดินทางไปเยือนประเทศเบลเยี่ยมระหว่างวันที่ 4-6 มี.ค.นี้

ส่วนอีกชุดเป็นคณะทำงานประสานความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชน ประกอบด้วย หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย เพื่ออำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการค้าในทุกด้าน โดยทั้ง 2 ชุดจะมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน

"มั่นใจว่าการเจรจาเอฟทีเอรอบนี้จะก่อให้ประโยชน์ในภาพรวมมากกว่าผลเสีย โดยเฉพาะด้านการส่งออกสินค้าที่จะช่วยลดภาษีการค้าระหว่างกัน ทดแทนการที่สินค้าไทยจะถูกอียูตัดจีเอสพี(สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร) ในปลายปี 57 ได้ แต่หากฝ่ายใดได้รับผลกระทบจะต้องมีการเยียวยาช่วยเหลือด้วย" นายบุญทรง กล่าว

ทั้งนี้ คณะทำงานประสานความร่วมมือฯ จะมีสำนักงานอยู่ที่สำนักงานปลัดกระทวงพาณิชย์ ทำหน้าที่ดูแล ติดตาม ประสานงานทางการค้าระหว่างประเทศ ทั้งการออกประกาศเตือนล่วงหน้า(eary warning) ปกป้อง และต่อสู้คดีที่ประเทศคู่ค้าใช้มาตรการ NB กับสินค้าไทย เช่น มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด(AD) มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น(safeguard) เป็นต้น

นอกจากนี้ยังได้หารือถึงการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยสภาหอฯ ได้เสนอให้รัฐบาลอำนวยความสะดวกการค้าชายแดนเพิ่มขึ้น เช่น การตั้งศูนย์งานวันสต็อปเซอร์วิสด้านการค้า การเปิดด่านการค้าชายแดนตลอด 24 ชั่วโมง และการเพิ่มจุดผ่านแดนใหม่ เช่น จุดผ่อนปรนกิ่วผาวอก จ.เชียงใหม่ เป็นต้น

ด้านนายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนสนับสนุนให้รัฐบาลเร่งเปิดเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู เพราะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยโดยรวม และเชื่อว่าการตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่ายจะช่วยให้การเจรจาเอฟทีเอเดินหน้ารวดเร็วภายใต้จุดยืนเดียวกัน

ส่วนสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่าขณะนี้ไม่มีความน่ากังวล เพราะขณะนี้ค่าเงินบาทเริ่มเสถียรภาพมากขึ้นไม่ได้ผันผวนเหมือนในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา แต่ต้องการให้ภาครัฐช่วยดูแลให้ดี โดยเฉพาะเงินร้อนที่ลงทุนเข้า-ออกอย่างรวดเร็ว และหากค่าเงินบาทจะแข็งค่าก็ขอให้แข็งค่าไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินอื่นๆ ในภูมิภาค เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบทางการค้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ