วิจัยกสิกรหั่น GDP ปี 56 เหลือ 4.8% เหตุส่งออกฟื้นช้าจากผลกระทบบาทแข็ง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 18, 2013 16:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดกรอบประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2556 ลงมาที่ร้อยละ 4.3-5.3 (ค่ากลางกรณีพื้นฐานที่ร้อยละ 4.8) จากกรอบคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 4.5-5.5 (ค่ากลางกรณีพื้นฐานเดิมที่ร้อยละ 5.0) ซึ่งเป็นภาพการชะลอลงจากที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 6.4 ในปี 2555 ที่ผ่านมา โดยเหตุผลสำคัญมาจากทิศทางการฟื้นตัวของการส่งออกที่น่าจะช้ากว่าประมาณการเดิม

ทั้งนี้ จากการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่มีจังหวะการแข็งค่าที่ค่อนข้างรวดเร็วในช่วงต้นปี 2556 (เงินบาทแข็งค่าแล้วเกือบร้อยละ 3.0 นับจากต้นปี 2556) ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าทิศทางเงินบาทที่แข็งค่าดังกล่าวอาจมีผลชะลอเส้นทางการฟื้นตัวของการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาสที่ 1/56 และทั้งปี 56 ให้ลดต่ำลงกว่าประมาณการเดิมผ่าน 2 ช่องทางส่าคัญ ได้แก่

1.รายรับของมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทลดน้อยลงจากผลของค่าเงิน แม้ผู้ส่งออกน่าจะมีการกระจายรายรับ/รายได้จากต่างประเทศเป็นสกุลเงินอื่นๆ นอกเหนือจากเงินดอลลาร์ฯ ในช่วงที่ผ่านมาเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์ฯ

อย่างไรก็ดี เงินบาทที่ไม่เพียงจะปรับตัวแข็งค่าขึ้นค่อนข้างรวดเร็วเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักเท่านั้น (ทั้งดอลลาร์ฯ เยน และยูโร) แต่ยังมีอัตราการแข็งค่าน่ามาเป็นอันดับที่ 1 เมื่อเทียบกับสกุลเงินภูมิภาคเอเชีย ทำให้มองว่าเงินบาทที่แข็งค่าน่าจะมีผลกระทบต่อรายได้ของผู้ส่งออกบางส่วนที่ต้องปรับเปลี่ยนรายรับในรูปเงินตราต่างประเทศกลับมาเป็นรูปเงินบาท

2.เงินบาทที่แข็งค่าอาจกระทบความสามารถทางการแข่งขัน และการตัดสินใจรับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศของผู้ส่งออกบางกลุ่ม ซึ่งเงินบาทที่แข็งค่ากว่าระดับส่าคัญทางจิตวิทยาที่ 30 บาทต่อดอลลาร์ฯ อาจมีผลท่าให้ผู้ประกอบการหลายภาคส่วนมีความกังวลเพิ่มมากขึ้นต่อแนวโน้มทิศทางค่าเงินบาทในระยะข้างหน้า

สำหรับในบางธุรกิจที่ได้รับแรงกดดันด้านต้นทุน (อาทิ ค่าจ้าง ค่าไฟ ราคาวัตถุดิบ/พลังงาน) และต้องเผชิญกับสภาพการแข่งขันที่เข้มข้นจากคู่แข่งอยู่แล้วนั้น ความสามารถในการทำกำไรที่ลดลง (และ/หรือเสี่ยงที่จะพลิกกลับมาเป็นขาดทุน โดยเฉพาะกลุ่มที่สูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก และมีโครงสร้างต้นทุนที่ถูกกระทบจากการปรับเพิ่มค่าจ้างค่อนข้างมาก อาทิ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ รวมถึงสินค้าเกษตร) อาจส่งผลให้ผู้ส่งออกชะลอการรับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศออกไป ซึ่งคำสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าที่ชะลอลงในไตรมาสแรกอาจส่งผลกระทบให้ยอดส่งออกในไตรมาสที่ 2/56 ชะลอตัวลงตามไปด้วย

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมุมมองเดิมว่า การฟื้นตัวของการส่งออกจะเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยประคองทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 56 ร่วมกับเม็ดเงินการใช้จ่ายของภาครัฐที่น่าจะมีความต่อเนื่องตามแผนงบประมาณประจำปี 2556 ซึ่งน่าจะช่วยชดเชยบรรยากาศการชะลอตัวลงของการใช้จ่ายในภาคเอกชนที่ได้เร่งตัวไปมากแล้วในช่วงปี 2555

แต่ทั้งนี้คงต้องติดตามผลกระทบการแข็งค่าของเงินบาทที่อาจเลื่อนเวลาการฟื้นตัวของการส่งออกให้ไกลออกไปจากที่ประเมินไว้ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าการแข็งค่าร้อยละ 1.0 ของค่าเฉลี่ยเงินบาท อาจมีผลกระทบต่อจีดีพีในปี 2556 ราวร้อยละ 0.1-0.3


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ