ขณะเดียวกันยังเป็นสร้างความร่วมมือในการพัฒนาด้านความปลอดภัยของสินค้าอาหารที่นำเข้าและส่งออก โดยมีตัวแทนประเทศสมาชิก Codex รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ และองค์กรอิสระต่างๆ เข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 230 คนจาก 57 ประเทศ
การประชุม CCFICS ครั้งนี้มีประเด็นพิจารณา 4 ประเด็น ได้แก่ 1.หลักการและแนวทางปฏิบัติสำหรับระบบควบคุมอาหารภายในประเทศ 2.การประเมินประสิทธิภาพของระบบควบคุมอาหารของประเทศตนเองและประเทศคู่ค้า 3.การปรับปรุงแนวทางปฏิบัติสำหรับการควบคุมอาหารในภาวะฉุกเฉินและการส่งคืนอาหารที่นำเข้า ครอบคลุมถึงอาหารสัตว์ และ 4.ปัญหาที่ประเทศผู้ส่งออกกำลังประสบเนื่องจากความซ้ำซ้อนของแบบสอบถามจากประเทศผู้นำเข้า ซึ่งควรเป็นคำถามเฉพาะการผลิตที่มีความปลอดภัยเท่านั้น
"คาดว่า จะได้มาตรฐานเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งการตรวจสอบและรับรองสินค้าอาหารที่นำเข้าและส่งออก นอกจากนั้น ยังได้แนวทางในการกำหนดมาตรฐานของอาเซียน ซึ่งจะเอื้อต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในอนาคต ที่สำคัญยังช่วยป้องป้องคุ้มครองผู้บริโภคและลดปัญหากีดกันทางการค้าที่ไม่จำเป็นด้วย" นายยุคล กล่าว
ด้านนายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ ผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยจะสนับสนุนการจัดทำร่างเอกสารเรื่องหลักการและแนวทางปฏิบัติสำหรับระบบควบคุมอาหารภายในประเทศ โดยเห็นควรให้ระบุให้ชัดเจนถึงระดับการนำไปปฏิบัติของประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนา และประเทศด้อยพัฒนา เพื่อการนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันไทยยังเห็นควรสนับสนุนข้อเสนองานใหม่ในการจัดทำแบบสอบถาม(generic questionnaire) เพื่อช่วยเหลือประเทศผู้ส่งออก และยังเห็นชอบกับการปรับปรุงเอกสารโคเด็กซ์ที่จัดทำไว้แล้วเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติสำหรับการควบคุมความปลอดภัยอาหารภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน และสถานการณ์ปฏิเสธสินค้าอาหารและอาหารสัตว์นำเข้าจากประเทศคู่ค้าตามร่างเอกสารที่สหรัฐอเมริกาได้แก้ไข
อย่างไรก็ตาม ไทยจะร่วมมือกับที่ประชุมสนับสนุนให้สามารถรับรองเอกสารระบบการควบคุมอาหารภายในประเทศ โดยพิจารณาให้เอกสารมีความยืดหยุ่นและเหมาะสมในทางปฏิบัติต่อประเทศกำลังพัฒนาได้อย่างเท่าเทียมกัน