ส่วนค่าความหวานของปีนี้ก็ต่ำกว่าปีก่อนโดยอยู่ที่ 11.06 ซี.ซี.เอส ขณะที่ปีก่อนค่าความหวานเฉลี่ย 11.64 ซี.ซี.เอส. ทั้งนี้ คุณภาพอ้อยที่ต่ำลงเนื่องมาจากปีนี้ปริมาณน้ำน้อย บางพื้นที่ถึงขั้นแล้ง และอากาศหนาวเย็นก็มาช้ากว่าที่ควร
ทั้งนี้ หากพิจารณาในแง่ประสิทธิภาพการหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาลทราย พบว่าโรงงานมีประสิทธิภาพในด้านการหีบอ้อยเพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำตาลทรายได้ดีขึ้น โดยหากเปรียบเทียบเฉพาะโรงงานที่จำนวนเท่ากับปีที่ผ่านมา ไม่รวมปริมาณอ้อยเข้าหีบในโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่เพิ่งเปิดหีบอ้อยในฤดูการผลิตนี้อีก 4 แห่ง มีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 58.02 ล้านตัน หรือคิดเป็นค่าเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 6.44 แสนตัน ซึ่งสูงกว่าปีก่อนที่มีอ้อยเข้าหีบเฉลี่ยต่อวัน 6.16 แสนตัน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะโรงงานน้ำตาลทรายหลายแห่งได้ลงทุนปรับปรุงคุณภาพเครื่องจักร และจัดระบบการนำอ้อยเข้าหีบได้ดีขึ้น
"หากนำตัวเลขค่าเฉลี่ยอ้อยเข้าหีบต่อวันดังกล่าว บวกกับโรงงานที่เปิดหีบอ้อยเพิ่มอีก 4 โรงในปีนี้ มาคำนวณด้วยปริมาณอ้อยที่คาดการณ์ผลผลิตอ้อยในปีนี้ที่ 90 ล้านตันนั้น คาดว่าโรงงานน้ำตาลทรายจะใช้ระยะเวลาหีบอ้อยในฤดูการผลิตปีนี้เพียงไม่ถึง 140 วัน โดยอาจปิดหีบอ้อยภายในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งจะเร็วกว่าปีที่ผ่านๆ มาซึ่งปิดหีบอ้อยหลังสงกรานต์ โดยเฉพาะปีที่แล้ว โรงงานสุดท้ายที่ปิดหีบยาวไปถึงวันที่ 18 พ.ค.55" นายสิริวุทธิ์ กล่าว
พร้อมระบุว่า เมื่อฤดูการผลิตปีนี้สามารถปิดหีบได้เร็วขึ้น โรงงานน้ำตาลทรายต่างๆ คงต้องเร่งเตรียมแผนการสร้างอ้อยที่ดีสำหรับปีหน้า โดยจัดส่งเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำและช่วยเหลือชาวไร่อ้อย บำรุงตออ้อย ดิน และจัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อการเพาะปลูก เพื่อบำรุงพันธุ์อ้อยให้เจริญเติบโตเป็นอ้อยที่มีคุณภาพที่ดี หลังผลผลิตอ้อยในฤดูการผลิตปีนี้ไม่ดีนัก
ทั้งนี้ โรงงานน้ำตาลแต่ละแห่งพร้อมให้ความช่วยเหลือชาวไร่อ้อยทุกด้าน เพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพผลผลิตอ้อย โดยมีเป้าหมายให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้ที่มั่นคงจากการเพาะปลูกอ้อยเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวได้ และให้มั่นใจได้ว่าจะมีผลผลิตอ้อยที่เพียงพอต่อการผลิตน้ำตาลทราย และความต้องการใช้ภายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทย