วงการตลาดเงิน-ตลาดทุนเสียงแตกทิศทางดบ.นโยบายทั้งลด-คง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 19, 2013 16:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หลายสำนักวิจัยเสียงแตกสำหรับการประชุม กนง.รอบนี้ โดยมีทั้งมุมมองการลดดอกเบี้ยและคงดอกเบี้ย ฝ่ายลดดอกเบี้ยให้เหตุผลว่าจะช่วยชะลอความร้อนแรงของเงินทุนไหลเข้า และลดการแข็งค่าของเงินบาทลงได้ ขณะที่ฝ่ายคงดอกเบี้ยเชื่อว่าการลดดอกเบี้ยไม่อาจต้านกระแสเงินทุนไหลเข้าไดั ซึ่งจำเป็นต้องใช้เครื่องมือทางนโยบายอื่นๆ ควบคู่กันไป

     สถาบัน                          การเปลี่ยนแปลง             อัตราใหม่(%)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย                            ลด                    2.50
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจฯ ม.รังสิต             ลด                  2.25-2.50
บล.เคจีไอ                                 ลด                    2.50
บลจ.ฟินันซ่า                                ลด                     -
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธ.ทหารไทย              คง                    2.75
บล.ฟินันเซียไซรัส                            คง                    2.75
บล.ซีไอเอ็มบี(ประเทศไทย)                    คง                    2.75
          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในวันที่ 20 ก.พ.นี้ มีโอกาสมากขึ้นที่ กนง.จะมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จากระดับปัจจุบันที่ 2.75% โดยให้ความสำคัญกับความเสี่ยงที่การแข็งค่าของเงินบาทอาจส่งผลต่อความต่อเนื่องของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งลดโอกาสในการทำกำไรจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างประเทศ(Carry Trade)
          อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันยังคงสามารถขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง ก็มีโอกาสเช่นกันที่ กนง.จะรอดูแนวโน้มเศรษฐกิจต่อไปอีกระยะ ก่อนจะมีการตัดสินใจเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า
          ทั้งนี้คาดว่า กนง.จะนำประเด็นเรื่องผลกระทบของค่าเงินต่อระบบเศรษฐกิจมาประกอบการพิจารณา เนื่องจากภาคการส่งออกเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก โดยในปี 55 ที่ผ่านมาสัดส่วนของภาคการส่งออกคาดว่าจะมีขนาดใหญ่ประมาณ 65% ของ GDP ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อทิศทางการส่งออก ผ่านความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะหากเงินบาทมีการแข็งค่าอย่างรวดเร็วเกินไป และแข็งค่าในอัตราที่สูงกว่าประเทศคู่แข่งทางการค้า ก็อาจจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันและการส่งออกของไทยและนำไปสู่ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมในที่สุด
          สำหรับข้อดีจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ท่ามกลางแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในประเทศที่ยังไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายดังกล่าวนั้น จะเป็นการช่วยลดต้นทุนทางการเงินของภาคเอกชน รวมทั้งเป็นการกระตุ้นการบริโภคของภาคครัวเรือน ภายใต้สภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบาง
          ด้านแหล่งข่าวจากธนาคารกสิกรไทย มองว่า การจะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ระดับ 2.75% นั้น คาดว่า กนง.จะใช้วิธีประมวลความเสี่ยงของเศรษฐกิจจากในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ จึงค่อยตัดสินใจว่าจะคงไว้ที่ 2.75% หรือปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ทั้งนี้มองว่ามีความเป็นไปได้ที่จะปรับลดลง 0.25%
          "การประชุมรอบนี้ยังคงมีประเด็นที่เปราะบาง ก็มีความเป็นไปได้ที่จะปรับลด อยู่ที่มุมมองว่าความเสี่ยงเศรษฐกิจเป็นอย่างไร...มีโอกาสที่จะปรับลดลง ถ้าหากความเสี่ยงของเงินเฟ้อไม่ได้เร่งขึ้น ซึ่งแบงค์ชาติยังคงดำเนินการได้ในเรื่องของการดูแลเศรษฐกิจ" แหล่งข่าวระบุ
          อย่างไรก็ดี หากคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิมอาจเกิดผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมโดยภาพรวม ซึ่งผลกระทบมากหรือน้อยย่อมมีความแตกต่างกันออกไปตามแต่ละอุตสาหกรรมนั้นๆ ยกเว้นอุตสาหกรรมที่มีการนำเข้าวัตถุดิบก็อาจจะได้รับอานิสงค์ เพราะสามารถนำเข้าได้ในราคาถูกลงจากผลของเงินบาทที่แข็งค่า
          ส่วนการดูแลเงินทุนไหลเข้านั้น อาจจะต้องมีหลายปัจจัยที่เข้ามาดูแล รวมถึงในเรื่องของเสถียรภาพ ซึ่งธปท.ได้ส่งสัญญาณในเรื่องของภาวะหนี้และเงินทุนไหลเข้าที่อาจจะมีมาตราการเข้ามาดูแลเป็นการเฉพาะในแต่ละเรื่อง และคงพยายามจะไม่ให้เกิดการเก็งกำไรค่าเงิน
          นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มองว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมในสถานการณ์ขณะนี้ เนื่องจากสามารถลดเงินร้อนจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นต้นเหตุของการแข็งค่าของเงินบาท ลดผลกระทบต่อผู้ส่งออก ลดภาระธปท.ในการประหยัดต้นทุนดอกเบี้ยในการออกพันธบัตรมาดูดสภาพคล่องกลับไป
          นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยควรพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อชะลอความร้อนแรงของเงินทุนระยะสั้นที่ไหลเข้ามาเก็งกำไรอันนำมาสู่การแข็งค่าของเงินบาท ส่งผลกระทบต่อภาคส่งออก การท่องเที่ยว รวมทั้งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะฟองสบู่ในอนาคตได้ ซึ่งธนาคารกลางยุโรปก็อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจึงสามารถปรับลดลงได้อีกอย่างน้อย 0.50% ในช่วงครึ่งปีแรก หากสถานการณ์การเคลื่อนย้ายทุนเปลี่ยนแปลงไป และเกิดแรงกดดันเงินเฟ้อ ก็สามารถปรับเปลี่ยนทิศทางของนโยบายดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลังได้
          "กนง.ควรปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25-0.50% ในการประชุม 20 ก.พ.เพื่อชะลอความร้อนแรงของเงินร้อนไหลเข้าเก็งกำไร แต่การตัดสินใจเป็นเรื่องของกนง. โดยที่มีความเป็นอิสระโดยดูจากผลทั้งระยะสั้นและระยะยาว" นายอนุสรณ์ กล่าว
          ทั้งนี้ได้เสนอ 7 นโยบาย ในการชะลอการแข็งค่าของเงินบาทและเตรียมรับมือการเคลื่อนย้ายเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น
          1.ทางการสามารถใช้โอกาสที่แรงกดดันอัตราเงินเฟ้อไม่สูงนักและเศรษฐกิจโลกยังชะลออยู่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งปีแรก 0.50% เพื่อลดแรงกดดันจากกระแสเงินทุนระยะสั้นไหลเข้าตลาดการเงินอันเป็นผลทำให้เงินบาทแข็งค่าและเกิดภาวะฟองสบู่ขึ้นได้ในอนาคต
          2.ในกรณีที่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยและธปท.เป็นห่วงเรื่องแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อที่จะเพิ่มขึ้นนั้น ธปท.สามารถใช้เครื่องมือ LTV (Loan To Value)ให้เป็นประโยชน์ ซึ่งปัจจุบัน ธปท.กำหนด LTV สำหรับคอนโดมีเนียมที่ 90% หมายความว่า ผู้กู้ซื้อคอนโดจากธนาคารจะกู้ได้ 90% แต่ธนาคารพาณิชย์จะปล่อยกู้เกินกว่านี้ ทางธนาคารจะต้องตั้งสำรองสูงขึ้นและค่า LTV สำหรับอสังหาแนวราบที่ 95% ทางธปท.อาจจะกำหนดค่า LTV เสียใหม่ เช่น กู้ซื้อคอนโดใช้ LTV 70% นั่นหมายถึงนักเก็งกำไรที่จะซื้อคอนโดจะต้องใช้เงินตัวเอง 30%
          3.ทางการควรใช้มาตรการทางการคลังควบคู่มาตรการการเงินเพื่อชะลอหรือลดแรงกดดันจากเงินทุนไหลเข้าด้วยการเร่งรัดในการชำระหนี้ต่างประเทศเร็วขึ้นมากขึ้น พร้อมกับการใช้โอกาสนี้ในการนำเข้าสินค้าประเภททุนและเครื่องจักรอุปกรณ์ทั้งหลายที่ต้องใช้ในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐบาล
          4.ส่วนการดำเนินการแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราผ่านทาง Open Market Operation เมื่อซื้อดอลลาร์และขายเงินบาทเข้าสู่ตลาดแล้วไม่ควรดูดเงินบาทกลับคืน ซึ่งจะทำให้ผลของการแทรกแซงมีประสิทธิภาพมากกว่า และชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้ดีกว่า แต่อาจส่งผลให้มีแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นบ้าง
          5.เมื่อเลือกใช้มาตรการต่างๆ ที่สอดคล้องกับกลไกตลาดแล้วแต่ไม่ได้ผลมากนัก หากอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วสู่ระดับ 28 บาท/ดอลลาร์ ภายในระยะเวลา 3 เดือน ทางการควรนำมาตรการควบคุมเงินทุนแบบอ่อนๆ มาใช้ เช่น เงินไหลเข้าที่ไม่มีธุรกรรมรองรับต้องชี้แจงเหตุผลหรือมีการเก็บค่าธรรมเนียม เป็นต้น
          6.ประเทศไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว จึงมีความจำเป็นน้อยลงในการที่ต้องสะสมทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวนมากเช่นในปัจจุบัน ควรมีการนำเอาทุนสำรองระหว่างประเทศบางส่วนออกไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพต่อระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจไทยในระยะยาว
          7.สำหรับความกังวลในเรื่องหนี้ภาคครัวเรือน ธปท.สามารถออกประกาศให้ธนาคารพาณิชย์ต้องตั้งสำรองในส่วนที่ปล่อยหนี้ภาคครัวเรือนในอัตราที่สูงขึ้น ซึ่งก็จะเป็นการจำกัดความสามารถในการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มนี้ให้ลดลง แล้วยังทำให้ธนาคารพาณิชย์มีการคัดเลือกลูกค้าสินเชื่อมากขึ้น ภาวะหนี้เสียก็จะลดลง นอกจากนี้ ธปท.อาจจะกำหนดให้อัตราส่วนสินเชื่อภาคครัวเรือนที่ปล่อยต่อสินเชื่อรวมทั้งหมดของธนาคารให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสม
          นายปรากรม ปฐมบูรณ์ นักเศรษฐศาสตร์ บล.เคจีไอ คาดว่า การประชุม กนง.รอบนี้จะมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ตามคำแนะนำของฝ่ายรัฐบาล เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาท ส่วนเหตุผลอื่นที่อาจจะเป็นปัจจัยให้ กนง.ปรับลดดอกเบี้ยคือดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม, การลงทุนภาคเอกชน และการบริโภคภาคเอกชน ยังติดลบเมื่อเทียบเป็นรายเดือน
          อย่างไรก็ดี การจะหวังให้การลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% ช่วยแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่าอาจจะไม่มีผลมากนัก เพราะการลดอัตราดอกเบี้ยในระดับดังกล่าวทำให้ดอกเบี้ยแม้จะลงมาอยู่ที่ 2.50% แต่ก็ยังเป็นระดับที่สูงกว่าประเทศเศรษฐกิจรายใหญ่ เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ดังนั้นเชื่อว่าเงินทุนจากต่างประเทศก็จะยังคงไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรของไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากต้องการหวังผลให้การลดดอกเบี้ยช่วยชะลอเงินทุนไหลเข้าและทำให้เงินบาทแข็งค่าได้จริงนั้น กนง.คงต้องลดดอกเบี้ยลงมากว่า 1% ซึ่งมองว่าคงไม่มีโอกาสเป็นไปได้
          "การลดดอกเบี้ย อาจทำให้ระดับความดึงดูดใจที่จะเข้ามาลงทุนน้อยลงไปบ้าง และคงไม่ทำให้เงินบาทอ่อนค่า เพราะการลดแค่ 0.25% อัตราผลตอบแทนพันธบัตรบ้านเราก็ยังสูงอยู่ดี ดังนั้นเงินทุนก็ยังไหลเข้าอยู่ ถ้าจะให้ลดดอกเบี้ยและมีนัยต่อค่าเงิน ต้องลดลงมากกว่า 1% ซึ่งคงเป็นเรื่องยาก เพราะเศรษฐกิจเรายังโตปีละ 4-5% โอกาสจะลดดอกเบี้ยขนาดนั้นคงยาก" นายปรากรม ระบุ
          พร้อมมองว่า ภายในช่วงครึ่งปีแรกนี้มีโอกาสที่ กนง.จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างน้อย 0.25-0.50% มาอยู่ที่ระดับ 2.25-2.50% และหลังจากนั้นคาดว่าดอกเบี้ยจะทรงตัวไปจนถึงสิ้นปี 2557 โดยไม่คิดว่าอัตราดอกเบี้ยจะกลับมาเป็นขาขึ้นได้ในช่วงเวลาสั้นๆ เนื่องจากรัฐบาลใช้นโยบายประชานิยมเป็นหลัก
          "ธรรมชาติของพรรคการเมืองที่ใช้แนวนโยบายประชานิยมเข้มข้น จะทำทุกอย่างให้ประชาชนพึงพอใจ ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยคนได้รับผลกระทบคือประชาชนที่กู้เงิน และรัฐบาลประชานิยมทุกรัฐบาลจะเน้นให้ประชาชนบริโภคด้วยการก่อหนี้ ดังนั้นจึงต้องมีการปรับลดดอกเบี้ย" นายปรากรม กล่าว
          นายธีรพันธุ์ จิตตาลาน กรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ฟินันซ่า ให้ความเห็นว่าธนาคารแห่งประเทศไทย จะลดดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันพุธ 20 ก.พ.เพื่อช่วยชะลอเงินไหลเข้า เพราะการยังคงใช้นโยบายเงินบาทแข็งค่าต่อไปนั้นจะยิ่งส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยมากขึ้น
          "คิดว่ากนง.จะปรับดอกเบี้ยลงในวันที่ 20 ก.พ.นี้เพื่อชะลอเงินไหลเข้า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยพื้นฐานจะดี แต่ขณะนี้เรากำลังอยู่ในสงครามค่าเงินที่หลายประเทศกดค่าเงินตนเองให้อ่อน การใช้นโยบายบาทแข็งด้วยการไม่ลดดอกเบี้ยจะทำให้ส่งออกของไทยมีปัญหา และเงินไหลเข้าจะสร้างฟองสบู่ในประเทศ ซึ่งนั่นจะเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจมากกว่าฟองสบู่ที่เกิดจากลดดอกเบี้ย เพราะแบงค์ชาติสามารถใช้มาตรการคุมฟองสบู่เฉพาะจุดหลังลดดอกเบี้ยได้” นายธีรพันธุ์ กล่าว
          ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี(TMB Analytics) ประเมินการลดดอกเบี้ยนโยบายไม่พอต้านกระแสเงินทุนไหลเข้า  อาจจำเป็นต้องใช้เครื่องมือทางนโยบายอื่นควบคู่กันไป เพื่อมุ่งรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และคาดว่า กนง.น่าจะมีมติให้คงดอกเบี้ยในการประชุมวันพุธนี้
          ทั้งนี้ นับแต่ต้นปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับกระแสที่รุนแรงถึง 2 ประการ กระแสแรก คือ ทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาต่อเนื่องยังตลาดตราสารหนี้และตราสารทุนไทย กดดันให้เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 2 ปี อีกกระแสหนึ่งคือความเห็นต่างของบรรดานักเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ค่ายหนึ่งสนับสนุนให้ กนง.หั่นดอกเบี้ย เพื่อลดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยกับประเทศใหญ่ๆ เช่น สหรัฐฯ และช่วยทอนการเก็งกำไรของกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย ในขณะที่อีกค่ายเห็นว่ายังไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยในตอนนี้ เพราะยากที่จะต้านสภาพคล่องที่ล้นบ่ามาจากการอัดฉีดเม็ดเงินของบรรดาธนาคารกลางยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น อาจทำให้เสียกระสุนนโยบายการเงินโดยเปล่าประโยชน์
          จากการวิเคราะห์ข้อมูลของ TMB Analytics ตั้งแต่ม.ค.55 จนถึงปัจจุบัน พบว่าส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 1 ปีของไทยกับสหรัฐฯ(ตัวแทนส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยกับต่างประเทศ) มีแนวโน้มเคลื่อนไหวสอดคล้องอยู่บ้างกับการซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดพันธบัตรไทย(ตัวแทนเงินทุนไหลเข้า)แต่ไม่อยู่ในระดับที่สูง กล่าวคือหากส่วนต่างอัตราผลตอบแทนกว้างขึ้น โดยทั่วไปจะพบการซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น ในขณะที่หากส่วนต่างอัตราผลตอบแทนแคบลงมักจะพบการซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติน้อยลง แสดงว่าการลดส่วนต่างอัตราผลตอบแทนจะสามารถช่วยลดกระแสเงินทุนไหลเข้าได้จริง แต่ความสัมพันธ์ดังกล่าวยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ดังนั้นการลดดอกเบี้ยเพื่อต้านเงินทุนเคลื่อนย้ายจึงอาจจะไม่ได้มีประสิทธิผลเท่าที่ควร
          แล้วอะไรที่ทำให้การลดดอกเบี้ยนโยบายด้อยประสิทธิภาพลงไปในการควบคุมทุนไหลเข้า ปัจจัยสำคัญคือผลตอบแทนของการลงทุนในตลาดพันธบัตรไทย พูดง่ายๆ คือต้องทำให้ไทยสูญเสียอันดับความน่าดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติลง ซึ่งจากการคำนวณของ TMB Analytics พบว่าหากไทยต้องการลดอันดับลงมาเทียบเท่ากับเกาหลีใต้ ประเทศไทยจำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมากถึงเกือบ 1% จึงจะสามารถกดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยลดความน่าดึงดูดลงมาได้
          "การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงอาจจะไม่ใช่ทางออกในการสกัดกั้นเม็ดเงินทุนที่ไหลเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง และอาจไม่เพียงพอที่จะลดความน่าลงทุนในตลาดไทยลง ยิ่งไปกว่านั้นการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติต้องปรับกลยุทธ์การลงทุนเกิดการโยกย้ายเงินเข้าออกเร็วขึ้น สร้างความผันผวนให้กับตลาดทุนไทยอีกระลอกหนึ่ง"TMB Analytics ระบุ
          ด้านบทวิเคราะห์จาก บล.ฟินันเซียไซรัส ระบุว่า การประชุมกนง.พุธนี้เป็นที่จับตาอย่างมาก หลังจากเกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายการเมืองและธปท. ทั้งนี้เชื่อว่ากนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ 2.75% เพราะมองว่าการลดดอกเบี้ยไม่ช่วยให้เงินไหลเข้าน้อยลง รวมถึงจะจับตามาตรการที่ธปท.ออกอาจมาสกัดกั้นเงินทุนไหลเข้า
          บล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) คาดว่า การประชุม กนง.รอบนี้ที่ประชุมน่าจะยังคงดอกเบี้ยไว้ในระดับ 2.75% แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่จะลดดอกเบี้ย
          นายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 20 ก.พ. 56 คาดว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.75% แต่แนวโน้มการประชุมครั้งต่อไปคาดว่าอาจจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลดลง 0.50% เพื่อเป็นการกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังที่มีแนวโน้มของการชะลอตัวทั้งภาคการบริโภคและภาคการลงทุน



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ