'วีรพงษ์' ห่วงปัญหาเงินทุนไหลเข้ากระทบศก.ไทย-จับตาภาคอสังหาฯ-สินเชื่อบุคคล

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 20, 2013 08:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวสัมมนาในหัวข้อ "เศรษฐกิจไทยท่ามกลางสภาพคล่องล้นระบบ..ความท้าทายของนโยบายการเงิน" ว่า ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา เงินทุนไหลเข้าในตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ และตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมองว่าในอีกไม่ช้าคงจะมีการเปิดสาขาตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ตามภูมิภาคต่างๆ ในต่างจังหวัดเหมือนเมื่อช่วงปี 2537-2538 ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540

สิ่งที่น่ากลัว คือ เงินที่ไหลเข้ามาในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตดี เพื่อหาผลตอบแทนที่สูงกว่าแม้จะมีกฎเกณฑ์บังคับป้องกันไว้ แต่ก็เหมือนน้ำที่สามารถไหลไปได้ทุกที่ทุกทาง ดังนั้นหากย้อนมาดูเครื่องมือหรือมาตรการที่ใช้ชะลอความร้อนแรงของเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลเข้ามา แม้หลายคนจะพูดถึงการเก็บภาษีเงินที่เข้ามาลงทุนระยะสั้นโดยตรง แต่ก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องขออนุญาตกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) หรือไม่ หรือจะใช้มาตรการสำรองเงินที่เข้ามาลงทุนโดยตรง หรือจะใช้มาตรการ Non market measure แต่จะเกิดผลกระทบข้างเคียงสูงมาก โดยเฉพาะถ้าราคาสินทรัพย์ปรับตัวขึ้นไปสูงมากแล้ว เมื่อออกมาตรการออกมาจะทำให้ราคาตกหนักลงไปมาก ทางที่ดีจึงอย่าให้ราคาขึ้นไปสูงเกินจริงเป็นเวลานาน

นอกจากนี้ ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ราคาที่ดินบางแห่งยังปรับตัวขึ้นสูงกว่า 10 เท่า เช่น ที่ดินแถบชายทะเล เขาใหญ่ และเชียงใหม่ จนอาจรวมไปถึงทั้งประเทศแม้กระทั่งในจังหวัดที่ไม่น่าจะมีโครงการลงทุนสร้างคอนโดมิเนียมแล้วขายได้ แต่ก็มีการลงทุนและขายได้เกิดขึ้นแล้ว เช่น อุดรธานี และขอนแก่น เป็นต้น

"ผมพยายามสอบถามราคาอสังหาริมทรัพย์ปัจจุบันพบว่าราคาขึ้นไปสูงมากจากตารางเมตรละหมื่นบาท กลายเป็นแสนบาท แต่ขณะที่ค่าเช่ากลับไม่เพิ่มขึ้น บางแห่งอาจลดลงด้วยซ้ำ ผมจึงมองว่าในอีก 1-2 ปีข้างหน้าอาจน่าเป็นห่วง"นายวีรพงษ์ กล่าว

นายวีรพงษ์ กล่าวอีกว่า เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ไทยมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นหลายจุด โดยเฉพาะเรื่องอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ที่มีความแตกต่างกันมากระหว่างดอกเบี้ยออมทรัพย์ธรรมดาอยู่ที่ 5% กับดอกเบี้ยออมทรัพย์ประจำ 1 ปีอยู่ที่ 16% ขณะที่ดอกเบี้ยสหรัฐในเวลานั้นต่ำกว่าไทยมากกว่าในปัจจุบัน อีกทั้งไทยยังใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ ต่างกับในปัจจุบันที่ใช้อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการบริหารจัดการ จึงมีเงินไหลเข้ามามากทำให้ราคาสินทรัพย์ในตลาดเงินและอสังหาริมทรัพย์ถีบตัวสูงขึ้น

" ถ้าราคาสินทรัพย์ต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้นเกินจริง แสดงว่าต้องมีปัจจัยผิดปกติเข้ามา เพราะหากเทียบกับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่โตประมาณ 4-5% ไม่น่าจะรองรับดีมานด์ในตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้มากขนาดนี้"นายวีรพงษ์ กล่าว

ขณะเดียวกัน เงินที่ไหลเข้ามามากได้เข้าไปอยู่ในธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นตามธรรมชาติที่เงินต้องหาที่ลงต่อไป ทำให้เกิดการขยายตัวของสินเชื่อภาคครัวเรือน โดยเฉพาะสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลที่บูมมาก และประเมินว่าจะมีโอกาสเติบโตได้อีกในระยะข้างหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ