นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)วันนี้ มีมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิมที่ 2.75% เนื่องจากมองว่าภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอน จากความยืดเยื้อในการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศยูโร และความไม่แน่นอนด้านนโยบายการคลังของสหรัฐฯ ประกอบกับเศรษฐกิจในประเทศยังมีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินจากการเร่งขึ้นของราคาสินทรัพย์
โดย กนง. 6 เสียงที่ให้คงอัตราดอกเบี้ยมองว่า อัตราดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันมีความเหมาะสม และยังเอื้อต่อการรักษาเป้าหมายนโยบายการเงินและการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทย ในไตรมาส 4/55 ขยายตัวดีกว่าคาด โดยมีการใช้จ่ายนประเทศเป็นแรงส่งสำคัญของเศรษฐกิจจากปัจจัยพื้นฐานที่ดี รวมทั้งนโยบายการเงินและการคลังที่ยังคงผ่อนคลาย
ในระยะต่อไป คาดว่าเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องและสูงกว่าที่คณะกรรมการฯ ประเมินไว้เดิม โดยอุปสงค์ภายในประเทศยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก รววมทั้งการส่งออกที่คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สำหรับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นบ้างจากการประชุมครั้งก่อน เนื่องจากราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น
"สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่เป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจ ยังไม่มีความน่ากังวล แต่ราคาสินทรัพย์ในบางตลาดปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างเร็ว และค่อนข้างมากในช่วงนี้เมื่อเทียบกับที่ผ่านมา จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ กนง.ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ย"
ขณะที่ กนง. อีก 1 เสียงที่ให้ลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% นั้น เพื่อต้องการลดความเสี่ยงจากเงินทุนเคลื่อนย้ายด้วยอัตราดอกเบี้ย และเห็นว่าเศรษฐกิจในภาพรวมยังมีความเปราะบาง
"การที่คณะกรรมการทั้ง 6 คนมีมติให้คงดอกเบี้ยไม่ใช่ไม่มีความเป็นห่วงเงินทุนเคลื่อนย้าย เพราะยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม โดย กนง.มีเป้าหมายพยายามทำให้เศรษฐกิจเติบโตตามศักยภาพ เงินเฟ้อยู่ในระดับต่ำ ไม่มีปัญหาต่อเสถียรภาพการเงิน คือเป้าหมายหลักของ กนง. ดังนั้นจึงต้องพิจารณาปัจจัยครบทุกด้านเท่าที่จะทำได้ ทั้งเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้าย ดอกเบี้ย ก็เป็นปัจจัยหนึ่ง แต่ยังมีเรื่องภาวะแรงงาน การส่งออก การปรับตัวของ SMEs เศรษฐกิจในภูมิภาค ภาคอสังหาฯ และอื่นๆ ที่ต้องประเมิน เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างเต็มที่ ไม่ใช่พิจารณาเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง" นายไพบูลย์ กล่าว
ส่วนกรณีที่มีการแสดงความเป็นห่วงถึงภาวะฟองสบู่ที่อาจจะเกิดขึ้นนั้น นายไพบูลย์ กล่าวว่า ถ้าเห็นเครื่องชี้ต่างๆ ที่จะกระตุ้นให้เกิดภาวะฟองสบู่ในอนาคตก็ต้องระมัดระวัง เพราะถ้าเห็นฟองสบู่เกิดขึ้นแล้วก็คงจะสายเกินไป เรื่องเสถียรภาพการเงินเป็นเรื่องที่พูดกันมากพอสมควร ไม่ใช่ในการประชุมครั่งนี้เพียงครั้งแรก โดยยืนยันว่า กนง.ได้มีการหารือกันอย่างต่อเนื่อง และได้หารือร่วมกับคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินถึงเรื่องสินเชื่อบางประเภทที่เร่งตัวขึ้น หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในระดับสูง สินเชื่อในบางตลาดสูงขึ้นค่อนข้างเร็วเป็นปัจจัยที่ยังคงต้องติดตาม และจากการประเมินสถานการณ์ในการประชุมกนง.ครั้งก่อน ก็ยังไม่เบาใจ
ส่วนการประชุมจี 7 ที่ได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องสงครามค่าเงิน และเงินทุนเคลื่อนย้ายนั้น นายไพบูลย์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นปัจจัยหนึ่งในการประมวลภาพรวมเศรษฐกิจและแนวโน้มในระยะข้างหน้าของภาวะเศรษฐกิจ เงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดโลก รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนที่จะเป็นปัจจัยกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยยืนยันว่า กนง.ไม่ได้พิจารณาจากปัจจัยหนึ่งปัจจัยเดียว ทุกปัจจัยเป็นข้อที่ต้องรับมาพิจารณาไว้อยู่แล้ว
ส่วนมาตรการสำหรับรับมือกับเงินทุนเคลื่อนย้ายนั้น ขณะนี้ยังคงมีการติดตามความเสี่ยงอย่างใกล้ชิด และพร้อมจะดำเนินนโยบายที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ส่วนการส่งสัญญาณดอกเบี้ยจะเป็นไปในทิศทางใดนั้นคงไม่สามารถระบุได้