"จึงมีคำพิพากษาให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองนครเนื่องเขตแจ้งให้บริษัท กัลฟ์ เจพี เอ็นเอ็นเค จำกัด ไปดำเนินการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานภายใน 30 วัน และหลังจากนั้นหากบริษัท กัลฟ์ เจพี เอ็นเอ็นเค จำกัด ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงาน ก็ให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองนครเนื่องเขต ดำเนินการตามมาตรา 40 มาตรา 41 มาตรา 42 และมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด" คำพิพากษาศาลปกครองระยอง ระบุ
คดีนี้นางมหาธยา ศรอากาศ กับพวกรวม 3 คน ได้ยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลคลองนครเนื่องเขต, กรมโรงงานอุตสาหกรรม, ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองนครเนื่องเขต เพื่อขอให้ศาลฯ สั่งเพิกถอนใบรับแจ้งการก่อสร้างอาคารโรงไฟฟ้าของบริษัท กัลฟ์ฯ และให้บริษัทฯ รื้อถอนอาคารดังกล่าว เพราะเห็นว่าการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าของบริษัทฯ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมทั้งการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ไม่ถูกต้อง
โดยศาลได้พิจารณาคำฟ้อง คำให้การ และพยานหลักฐานต่างๆ ในสำนวนคดีแล้วเห็นว่า สำหรับคำขอให้เพิกถอนใบรับแจ้งการก่อสร้างอาคารโรงไฟฟ้านั้น เนื่องจากคดีนี้ บริษัท กัลฟ์ฯ ได้ขออนุญาตก่อสร้างอาคารโดยใช้วิธีการแจ้งตามมาตรา 39 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้แจ้งได้ยื่นเอกสารและข้อมูลต่างๆ ครบถ้วน โดยการแยกแจ้งการก่อสร้างเป็น 15 ฉบับ และได้เสียค่าธรรมเนียมเรียบร้อยแล้ว และไม่มีเหตุขัดข้อง ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 การที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองนครเนื่องเขต ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ออกใบรับแจ้งให้ก่อสร้างอาคารโรงไฟฟ้า จึงเป็นการออกใบรับแจ้งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ส่วนคำขอให้ศาลสั่งให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองนครเนื่องเขต ออกคำสั่งรื้อถอนอาคารโรงไฟฟ้านั้น ศาลเห็นว่า เนื่องจากอาคารโรงไฟฟ้าดังกล่าวเป็นการประกอบกิจการอุตสาหกรรม และถือเป็นโรงงานจำพวกที่ 3 ที่จะต้องขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ในเมื่อบริษัท กัลฟ์ฯ ยังไม่ขออนุญาตประกอบกิจการ จึงไม่อาจตั้งโรงงานตามที่มาตรา 12 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 บัญญัติไว้ได้ การก่อสร้างอาคารโรงไฟฟ้าดังกล่าวจึงเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามที่มาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 บัญญัติไว้ แม้ว่าบริษัท กัลฟ์ฯ จะได้รับใบรับแจ้งให้ก่อสร้างอาคารได้ก็ตาม เพราะการได้รับใบรับแจ้งดังกล่าวเพียงแต่ก่อให้เกิดสิทธิในการก่อสร้างอาคารตามที่ได้รับแจ้งเท่านั้น แต่จะก่อสร้างอาคารดังกล่าวได้โดยทันทีหรือไม่ ก็จะต้องพิจารณาถึงเงื่อนไขตามที่กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ด้วย ประกอบกับเมื่อมีการออกใบรับแจ้งนั้น นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองนครเนื่องเขต ก็ไม่ได้แจ้งให้บริษัท กัลฟ์ฯ ทราบว่า บริษัท กัลฟ์ฯ ยังมีหน้าที่ต้องไปขออนุญาตเกี่ยวกับอาคารตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่มาตรา 13 ทวิ (3) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 บัญญัติไว้ การที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองนครเนื่องเขต ไม่ได้แจ้งให้บริษัท กัลฟ์ฯ ทราบและปล่อยให้มีการก่อสร้างอาคารโรงไฟฟ้า จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่มาตรา 40 และมาตรา 13 ทวิ (3) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 บัญญัติไว้
อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างอาคารโรงไฟฟ้าดังกล่าวเป็นกรณีที่บริษัท กัลฟ์ฯ ได้ดำเนินการไปโดยไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามขั้นตอนและวิธีการเกี่ยวกับการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ตามที่พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 บัญญัติไว้เท่านั้น และยังเป็นกรณีที่แก้ไขได้ โดยให้มีการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานให้ถูกต้องก่อน และเมื่อพิจารณาถึงความเดือดร้อนหรือเสียหายของผู้ฟ้องคดีทั้งสามที่กล่าวอ้างในเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อได้มีการประกอบกิจการหลังจากก่อสร้างอาคารโรงไฟฟ้าแล้ว และคำนึงถึงสิทธิในการประกอบอาชีพของบุคคล ซึ่งรวมทั้งบริษัท กัลฟ์ฯ ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยรับรองไว้ รวมถึงพิจารณาถึงการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลคลองนครเนื่องเขต กรมโรงงานอุตสาหกรรม และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองนครเนื่องเขต ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องประกอบกันแล้ว การที่จะสั่งให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองนครเนื่องเขต ดำเนินการกับอาคารโรงไฟฟ้าตามมาตรา 40 มาตรา 41 มาตรา 42 และมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 โดยทันทีทั้งๆ ที่ยังเป็นกรณีที่แก้ไขได้จึงไม่เป็นไปตามหลักในการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี จึงสมควรให้บริษัท กัลฟ์ฯ ดำเนินการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน ต่อเมื่อหน่วยงานดังกล่าวไม่อนุญาต จึงให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองนครเนื่องเขต ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
โดยที่คำพิพากษาดังกล่าวเป็นคำพิพากษาของศาลปกครองระยองซึ่งเป็นศาลปกครองชั้นต้น คู่กรณีที่ประสงค์จะคัดค้านคำพิพากษาดังกล่าวก็มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้มีคำพิพากษา ซึ่งศาลได้แจ้งสิทธิดังกล่าวให้คู่กรณีที่มาศาลทราบแล้ว