รมว.พลังงานแจงพม่าหยุดส่งก๊าซไม่ทำให้ LPG ในปท.ขาดแคลน วอนเลิกกักตุน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 26, 2013 11:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน กล่าวถึงกระแสข่าวการตื่นตระหนกว่าจะขาดแคลนก๊าซ LPG ในประเทศจากที่พม่าจะหยุดส่งก๊าซให้ไทยช่วง 5-14 เม.ย.นี้ จนทำให้เกิดการกักตุนก๊าซ LPG นั้น ยืนยันว่า ก๊าซ LPG ในประเทศจะไม่ขาดแคลนอย่างแน่นอน เนื่องจากโรงแยกก๊าซฯ ในภาคตะวันออกยังสามารถเดินเครื่องผลิตได้ตามปกติ ไม่มีผลกระทบจากการหยุดจ่ายก๊าซฯ ของพม่า ขณะที่การสำรองก๊าซ LPG ยังอยู่ในระดับสูงจึงไม่ขาดแคลน

อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้กรมธุรกิจพลังงานไปตรวจสอบโรงบรรจุก๊าซฯ และร้านจำหน่าย รวมถึงสถานีบริการแอลพีจี ไม่ให้มีการฉวยโอกาสกักตุนแอลพีจีในช่วงนี้ ทั้งนี้ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกและกักตุนก๊าซฯ เพราะเชื่อว่าเป็นการปล่อยข่าวของคนบางกลุ่มที่ไม่หวังดี

ส่วนก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV)จะไม่ขาดแคลนเช่นกัน เพราะกระทรวงพลังงานเตรียมแผนรองรับไว้แล้ว แต่อาจกระทบกับการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ทำให้มีปัญหาไฟตกไฟดับในบางพื้นที่ แต่เชื่อว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลงได้ หลังได้รับความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรมที่จะลดกำลังการผลิตสินค้าเพื่อช่วยประหยัดไฟในวันที่ 5 เม.ย. รวมถึงความร่วมมือของภาคประชาชนและข้าราชการที่จะลดการการใช้ไฟฟ้าลง

ส่วนกรณีที่พม่าอาจต้องเลื่อนการหยุดซ่อมท่อก๊าซฯ ออกไปจากแผนเดิมที่กำหนดเสร็จในวันที่ 14 เม.ย.นั้น รมว.พลังงาน คาดว่า การเลื่อนซ่อมท่อก๊าซฯ ของพม่าจะไม่เกิน 1 สัปดาห์ และไม่มีผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากเป็นช่วงที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค)อยู่ที่ 15,000-20,000 เมกะวัตต์ต่อวัน ในขณะที่กำลังการผลิตอยู่ที่ 27,000 เมกะวัตต์ต่อวัน ซึ่งเพียงต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงที่พม่าหยุดจ่ายก๊าซฯ

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวกระทรวงพลังงานจะพยายามกระจายความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิง เพื่อลดการพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า จากปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 70% โดยจะมุ่งไปที่เชื้อเพลิงจากก๊าซชีวภาพ(ไบโอแก๊ส) ถ่านหินและน้ำ ซึ่งจะใช้เวลาในการดำเนินการนานถึง 5 ปี แต่สัดส่วนที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าจะเป็นเท่าใดขึ้นอยู่รับของภาคประชาชน ซึ่งคงจะต้องมีการทบทวนในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP 2013

นอกจากนี้ ยังได้ตรวจเยี่ยม บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ. (PTTEP) เพื่อรับทราบข้อมูลทางเทคนิควิธีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแหล่งต่างๆ โดยเฉพาะการใช้แท่นขุดเจาะที่แตกต่างกัน ซึ่งจะมีผลต่อต้นทุนการขุดเจาะปิโตรเลียม เพื่ออธิบายประชาชนให้ทราบข้อเท็จจริงในการจัดหาปิโตรเลียมในอ่าวไทยที่มีราคาสูงกว่าแหล่งอื่น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ