ด้านนายชนะชัย เปล่งศิริวัธน์ ผู้อำนวยการ อ.ส.ย. กล่าว ว่า อ.ส.ย. มีพื้นที่ปลูกยางพันธุ์ดี จำนวน 41,000 ไร่ มีการโค่นต้นยางเพื่อทำการปลูกแทนใหม่ปีละ 1,000 - 1,500 ไร่ การขายไม้ยางของ อ.ส.ย. ได้ดำเนินการโดยใช้วิธีการประมูลขายให้แก่บริษัทเอกชน และเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าไม้ยางพารา อ.ส.ย. จึงจัดตั้งโรงงานแปรรูปไม้ยางพาราและอบแห้งขึ้นเอง ที่ ต.กรุงหยัน อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช โดยใช้งบประมาณลงทุนประจำปีงบประมาณ 2553 ของ อ.ส.ย. เพิ่มเติม ในวงเงิน 14.17 ล้านบาท โดยให้จัดทำเป็นแผนการลงทุนระยะยาว เพื่อให้สามารถติดตามผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเป็นฐานในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้ โดยมีกำลังการผลิต 1,200 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือ 120 ตัน และควบคุมการผลิตให้มีคุณภาพมาตรฐานโดยแปรรูปไม้ยางคุณภาพ เกรด A, B 45% เกรด C 55% โดย อ.ส.ย. จะมีวัตถุดิบจากสวนยางใช้ในการผลิตอย่างต่อเนื่องทุกปี และเป็นศูนย์กลางของแหล่งวัตถุดิบไม้ยางแปรรูป เป็นการเพิ่มรายได้ของ อ.ส.ย. ในการประกอบธุรกิจแปรรูปไม้ยางพาราและอบแห้ง จำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางจากการขายต้นยางพาราให้กับโครงการฯ เป็นการสนับ สนุน พัฒนาฝีมือแรงงาน และเทคนิคการผลิตให้ทันสมัย สามารถ แข่งขัน เพื่อยกระดับราคาและคุณภาพ ตลอดจนสร้างอาชีพและกระตุ้นเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนในพื้นที่บริเวณก่อสร้างโรงงานฯ ได้ในอนาคต
ปัจจุบันยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา อีกทั้งเป็นประเทศผู้ผลิตยางพาราอันดับหนึ่งของโลก และมีการนำไม้ยางพารามาใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องของไม้ยางพาราเกิดขึ้นในประเทศเป็นจำนวนมากอย่างครบวงจร ประกอบด้วย อุตสาหกรรมต้นน้ำ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกไม้ยางพารา อุตสาหกรรมกลางน้ำ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจไม้ยางพาราแปรรูป และอุตสาหกรรมปลายน้ำ ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมเครื่องเรือน และผลิตภัณฑ์ที่ทำด้วยไม้ สำหรับเฟอร์นิเจอร์ที่ทำด้วยไม้ยางพารา จะส่งออกถึงร้อยละ 65 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 35 จำหน่ายภายในประเทศ วัตถุดิบหลักของอุตสาหกรรมไม้ยางพาราแปรรูป คือ ไม้ยางพาราที่มีอายุมากซึ่งให้ปริมาณน้ำยางต่ำ ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจในการกรีดน้ำยาง ทำให้เกษตรกรต้องโค่นต้นยางพาราแล้วปลูกทดแทน โดยมีการตัดโค่นไม้ยางพาราเพื่อปลูกทดแทนปีละประมาณ 300,000 ไร่