นายประสาร กล่าวในงานสัมมนา "SCB Investment Symposium Thailand Outlook 2013" ว่า ในปี 55 ที่ผ่านมา พบว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ถึง 6.4% สูงขึ้นกว่าที่ ธปท.คาดการณ์ไว้เดิมที่ 5.9% ซึ่งมาจากการลงทุนภาคเอกชนจากการซ่อมแซมภาคครัวเรือนหลังเกิดปัญหาอุทกภัยในปี 54 ประกอบกับการปรับตัวของภาคเอกชนในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรอุปกรณ์ ขณะที่ภาคการส่งออกเริ่มมีการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และจะมีบทบาทต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 56
"แรงส่งในไตรมาส 4/55 ที่เศรษฐกิจเติบโตได้ดี ทำให้เศรษฐกิจปีนี้มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น ซึ่งหลายสำนักมองว่าน่าจะเติบโตในอัตรา 5% หรือมากกว่า" ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าว
ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อระยะสั้นเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นในเดือนก.พ.56 โดยราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 112 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ผลสำรวจการคาดการณ์ของ 12 เดือนข้างหน้ามีแนวโน้มว่าอัตราเงินเฟ้อจะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 3-4% ซึ่งสะท้อนว่าเงินเฟ้อไม่ได้เร่งตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยในปี 56 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป(CPI)อยู่ที่ 3% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(Core CPI)จะอยู่ที่ 1.7% ซึ่งถือว่ายังอยู่ในกรอบที่ไม่เป็นอันตราย
*เชื่อเงินทุนยังไหลเข้าต่อเนื่อง ดันราคาหุ้น-อสังหาฯ เพิ่มขึ้น
สำหรับปริมาณเงินทุนไหลเข้าจะยังมีอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนม.ค.56 มีเงินทุนไหลเข้า 2,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่เดือนก.พ.56 ปริมาณเงินทุนไหลเข้ามีแนวโน้มลดลง และส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในพันธบัตรระยะสั้น แต่เริ่มเห็นการลงทุนในพันธบัตรระยะยาวมากขึ้น
นายประสาร กล่าวว่า การลงทุนของนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่องนั้น ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ทั้งอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้นปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยราคาคอนโดมิเนียมในช่วงไตรมาส 3/55 เติบโตขึ้น 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และในช่วงไตรมาส 4/55 เติบโตขึ้น 15-16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,500 จุด เมื่อวันที่ 20 ก.พ.56 โดย P/E อยู่ที่ 18-19 เท่า นอกจากนี้การลงทุนในตลาดหุ้นของนักลงทุนต่างชาติตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน พบว่านักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อสุทธิ 3,000 ล้านบาท ถือว่าสูงไม่มาก แต่ทำให้ค่า P/E ของตลาดหุ้นไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ย โดยหุ้นที่ค่า P/E สูงกว่าค่าเฉลี่ยส่วนใหญ่เป็นหุ้นขนาดเล็ก เป็นการเข้าลงทุนโดยนักลงทุนไทยเป็นส่วนใหญ่ ส่วนต่างชาติเข้าซื้อหุ้นในขนาดกลางและ SET50 ส่วนตลาดพันธบัตรตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันมีต่างชาติซื้อสุทธิ 8.3 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่ยังลงทุนในพันธบัตรระยะสั้น
"เงินทุนที่ไหลเข้าในสินทรัพย์ต่างๆ ได้สร้าง sentiment ให้นักลงทุนไทย ประกอบกับภาวะดอกเบี้ยที่เอื้อต่อการลงทุน จึงเห็นการปรับเปลี่ยนการลงทุนไปในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น ทั้งตลาดอสังหาริมทรัพย์ ตลาดหุ้น แต่การลงทุนก็แลกมาด้วยความเสี่ยงที่มากขึ้น ดังนั้นนักลงทุนต้องระวังและศึกษาข้อมูลให้รอบด้านทั้งในระดับจุลภาค" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว
พร้อมเห็นว่า การไหลเข้าของเงินทุนเคลื่อนย้ายทำให้อัตราแลกเปลี่ยนมีการเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งถือเป็นโอกาสการลงทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทนมากขึ้นทั้งการลงทุนในต่างประเทศและต่างประเทศ โดยในช่วงเดือนม.ค.56 เงินบาทปรับตัวขึ้นเร็วจากเงินทุนไหลเข้า แต่เดือนก.พ.56 เงินบาทเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น
*เงินบาทมีแนวโน้มผันผวน แนะนลท.ป้องกันความเสี่ยง
ทั้งนี้ นักลงทุนไม่ควรกังวลและตื่นตระหนกจนเกินไป เพราะเงินบาทไม่ได้เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียว แต่เงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น ดังนั้นนักลงทุนจึงควรป้องกันความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ เช่น การใช้เครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยง ขณะที่ ธปท.ได้ออกมาตรการในการผ่อนเกณฑ์การควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย เพื่อส่งเสริมให้มีเงินไหลออกไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้การไหลเข้าออกของเงินทุนมีความสมดุลมากยิ่งขึ้น
ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวด้วยว่า การที่เศรษฐกิจโลกมีเสถียรภาพดีขึ้นและมีแนวโน้มการฟื้นตัว แต่ยังมีความไม่แน่นอนจากการแก้ไขปัญหาหนี้สินของยุโรป และความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบายการคลังของสหรัฐฯนั้น จึงทำให้ยังมีเงินทุนไหลเข้ามาในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเงินทุนที่ไหลเข้ามาดังกล่าว ทำให้ราคาสินทรัพย์ทั้งอสังหาริมทรัพย์ ราคาหุ้น และพันธบัตรปรับสูงขึ้น เนื่องจากมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น แต่ก็มาพร้อมความเสี่ยงที่สูงขึ้นด้วย โดยเงินทุนที่ไหลเข้ามาแม้จะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่ก็น่าจะเป็นโอกาสที่เอื้อต่อการลงทุนในประเทศให้มีการนำเข้าเครื่องจักรช่วยให้ผู้ประกอบการไทยได้ปรับตัว หรือนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศได้ ขณะเดียวกันการลงทุนควรจะต้องรู้เขารู้เรา มีการศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน ขณะที่ ธปท.จะดูและเสถียรภาพทั้งเศรษฐกิจการเงินเพื่อเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย