นายธนา กล่าวว่า เบื้องต้นกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองพร้อมใช้ในวันที่ 5 เม.ย.ได้เพิ่มขึ้นจาก 767 เมกะวัตต์ เป็น 1,058 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าราชบุรีจะเพิ่มกำลังการผลิตให้อีก 30 เมกกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าด่านช้าง อีก 5 เมกกะวัตต์ เจรจาซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซีย 200 เมกะวัตต์ และการหยุดผลิตของโรงงานที่ใช้สัญญาซื้อไฟฟ้าที่สามารถระงับการจ่ายไฟฟ้า(Interuptable Rate) อีก 56 เมกะวัตต์ เมื่อรวมกับการที่ประชาชนและภาคธุรกิจให้ความร่วมมือในการประหยัดการใช้ไฟฟ้า ก็ทำให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหาไฟฟ้าดับ แต่ยอมรับว่าอาจเกิดปัญหาไฟฟ้าตกได้ในช่วง 13.00-15.00 น. ที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด
ทั้งนี้ กฟผ.ได้ทำแบบสอบถามมาตรการลดใช้ไฟฟ้าส่งไปให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลในการบริหารจัดการระบบไฟฟ้า โดยคาดว่าจะได้รับข้อมูลเร็วนี้ ซึ่งในวันที่ 5 มี.ค. กฟผ.จะหารือร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าภูมิภาค เพื่อกำหนดแผนจัดการไฟฟ้าในช่วงดังกล่าว
ส่วนการจัดหาน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตา เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าทดแทนก๊าซฯ จากพม่านั้น กฟผ.ได้ขอให้ผู้ค้าน้ำมันจัดส่งน้ำมันให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมี.ค. เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าในช่วงวันหยุดสงกรานต์
ด้านนายวีระพล จิรประดิษฐกุล อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า แผนการเตรียมก๊าซให้เพียงพอในช่วงที่ก๊าซพม่าหยุดส่งวันที่ 5-14 เม.ย.นี้ ได้สั่งการให้ ปตท.เลื่อนการซ่อมบำรุงโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ 6 , 1 และ 3 ออกไปเป็นเดือนพ.ค. จากเดิมที่มีจะแผนปิดซ่อมบำรุงในเดือนก.พ.และมี.ค.นี้
ขณะเดียวกันให้ ปตท. นำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG)ให้เพียงพอ โดยแผนนำเข้า LPG ของ ปตท.ในเดือนมี.ค.นี้ นำเข้า 150,000-170,000 ตัน ขณะที่เดือนก.พ.นี้นำเข้า 180,000 ตัน ส่วนเดือนม.ค.ที่ผ่านมานำเข้า 93,000 ตัน ซึ่งจากแผนการนำเข้าเชื่อมั่นว่าก๊าซจะไม่ขาดแคลนอย่างแน่นอน และขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกไปกักตุนก๊าซ