รมว.พลังงาน สั่งปรับแผน PDP 2013 ลดสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 27, 2013 17:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศในระยะยาวฉบับใหม่(Power Development Plan:PDP 2013) จากฉบับปัจจุบันคือ PDP 2010 และฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3(PDP Revised 3) ซึ่งเป็นแผนการผลิตไฟฟ้าในช่วงปี 2555-2573

โดยจะมีการปรับลดสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าให้เหลือ 45% จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 68% และเพิ่มสัดส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นไม่ต่ำกว่า 20% จากปัจจุบันอยู่ที่ 18.8% หรือให้มีกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ต่ำกว่า 10,000 เมกะวัตต์ จากแผน PDP ฉบับปัจจุบันกำหนดให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวน 4,000 เมกะวัตต์ โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เป็นผู้รับผิดชอบในการก่อสร้าง พร้อมกันนี้จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำเป็นไม่ต่ำกว่า 15% จากปัจจุบันมีสัดส่วน 10% โดยจะให้เพิ่มเป็นไม่ต่ำกว่า 10,000 เมกะวัตต์ จากการซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ลาว เป็นต้น และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจะมีสัดส่วน 20% ในจำนวนนี้จะมาจากพลังงานไฟฟ้าชีวมวล(Biomass) หรือไบโอแก๊ส(Biogas) ไม่ต่ำกว่า 10,000 เมกะวัตต์ ซึ่งการส่งเสริมโรงไฟฟ้าจากหญ้าเลี้ยงช้าง หรือหญ้าเนเปียร์

"การกระจายไปใช้เชื้อเพลิงอื่นทดแทนในการผลิตไฟฟ้า เช่น ถ่านหิน พลังน้ำทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับก๊าซฯ และมีความมั่นคงด้านปริมาณสำรองมากกว่า ส่วนพลังงานทดแทนก็จะทำให้มีความหลากหลายของการใช้เชื้อเพลิงมากขึ้น และกระจายไปสู่การผลิตไฟฟ้าในชุมชนมากขึ้น" นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

ขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้านมีการเสนอขายโรงไฟฟ้าถ่านหินให้ไทย เช่น กัมพูชาเสนอขาย 4,000 เมกะวัตต์ พม่า 4,000 เมกะวัตต์ และมาเลเซีย 1,600 เมกะวัตต์ โดยในส่วนของมาเลซียจะมีการนำไปหารือในระหว่างที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการในวันพรุ่งนี้(28 ก.พ.) ซึ่งเบื้องต้นน่าจะรับซื้อได้เพียง 600 เมกะวัตต์ เนื่องจากมีปัญหาระบบสายส่งรองรับไม่เพียงพอ

ส่วนปัญหาการหยุดส่งก๊าซฯ ของพม่าในช่วงวันที่ 5-14 เม.ย.56 ซึ่งอยู่ในช่วงฤดูร้อนของประเทศที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปีได้กระตุ้นให้ภาครัฐต้องตื่นตัว และเล็งเห็นถึงการเตรียมการแก้ไขปัญหาการผลิตไฟฟ้าของไทยในอนาคตที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพราะในปีต่อๆ ไปที่คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น หากมีการหยุดส่งก๊าซฯ อีกก็จะทำให้ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซฯ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ