(เพิ่มเติม) สศอ.คาดการณ์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม Q1/56 ขยายตัว 3.0-4.0%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 28, 2013 14:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐพล ณัฎฐสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) คาดว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) ในช่วงไตรมาส 1/56 จะขยายตัวได้ 3-4% ขณะที่ทั้งปี 56 คาดว่าดัชนี MPI จะขยายตัวได้ 3.5-4.5%

สำหรับ GDP ภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 4/55 ที่ผ่านมาขยายตัวได้ 37.4% เร่งตัวขึ้น 1.1% จากไตรมาส 3/55 ทำให้ GDP ภาคอุตสาหกรรมปี 55 ขยายตัว 7% โดยคาดว่า GDP ภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 1/56 จะขยายตัวได้ 8-9% และทั้งปีคาดว่าจะขยายตัว 5-6%

ส่วนการนำเข้าสินค้าทุนในเดือน ม.ค.56 ขยายตัว 36.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ และกึ่งสำเร็จรูปขยายตัว 37.4% และด้านการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทยเดือน ม.ค.56 ขยายตัว 21.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไม่รวมทองคำแท่งขยายตัว 28.2%

สำหรับแนวโน้มภาพรวมอุตสาหกรรมไตรมาส 1/56 มีปัจจัยบวก ได้แก่ ฐานการคำนวณที่ต่ำในไตรมาส 1/55, การส่งออกมีบทบาทในการขับเคลื่อนมากขึ้นจากประเทศเศรษฐกิจใหม่ ภูมิภาคเอเชีย และอาเซียน, อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ ส่วนปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลังจากประสบวิกฤติเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น, การแข็งค่าของเงินบาท และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วันทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ในแต่ละอุตสาหกรรมรายสาขาสำคัญในเดือน ม.ค.56 และแนวโน้มไตรมาสที่ 1/56 พบว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ เดือนม.ค.56 การผลิตรถยนต์มีจำนวน 236,025 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 68.10% เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์เร่งการผลิตรถยนต์เพื่อให้ทันต่อการส่งมอบให้ลูกค้า

สำหรับไตรมาส 1/56 คาดว่า จะมีการขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากโรงงานผลิตรถยนต์เร่งการผลิตเพื่อให้ทันต่อความต้องการของลูกค้าและคาดว่าจะมีการผลิตเพื่อส่งมอบลูกค้าจากโครงการรถยนต์คันแรกที่ยังค้างส่งมอบอีก 231,000 คัน และทั้งปีจะมีการผลิตรถยนต์ได้ 2,800,000 คัน ยอดจำหน่ายในประเทศจะอยู่ที่ 1,600,000 คัน และยอดการส่งออกอยู่ที่ 1,200,000 คัน

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า เดือนม.ค.56 ปริมาณการผลิตเหล็ก ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8% ในขณะที่ปริมาณการบริโภค 1.44 ล้านตัน ขยายตัวขึ้นถึง 8% เป็นผลมาจากการขยายตัวของภาคก่อสร้างซึ่งขยายตัวจากโครงการก่อสร้างของภาครัฐที่ยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปีที่แล้ว นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งเป็นผลมาจากโครงการรถคันแรกของภาครัฐเช่นเดียวกัน

แนวโน้มไตรมาสที่ 1/56 ปริมาณการผลิต ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8% ในขณะที่ปริมาณการบริโภคขยายตัวขึ้นถึง 6% เป็นผลมาจากการขยายตัวของภาคก่อสร้างทั้งโครงการของภาครัฐซึ่งยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และการลงทุนของภาคเอกชน เช่น การก่อสร้างคอนโดมิเนียมตามเส้นทางรถไฟฟ้าก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เดือนม.ค.56 การผลิตมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยรวม 4.43% เนื่องจากฐานการผลิตในเดือนม.ค.55 อยู่ในระดับต่ำ อีกปัจจัยหนึ่งมาจากการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศทำให้การจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศมีการขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงการส่งออกมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน และในส่วนของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์การผลิตเริ่มกลับมาผลิตได้มากขึ้น

สำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 1/56 คาดว่าการผลิตจะขยายตัวได้ 23.28% จากความต้องการในประเทศที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทำให้กำลังซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น และการลงทุนของภาคเอกชนที่ยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเดือนม.ค.56 การผลิตเส้นใยสิ่งทอ และผ้าผืน เพิ่มขึ้นตามการบริโภคภาคประชาชนที่ยังมีกำลังซื้ออย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งคำสั่งซื้อจากต่างประเทศส่วนใหญ่จะเป็นคำสั่งซื้อจากเอเซีย โดยเฉพาะกลุ่มอาเซียนและญี่ปุ่น ในส่วนการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปเริ่มลดลง 1.24% ส่วนใหญ่เป็นคำสั่งซื้อที่ลดลงจากกลุ่มสหภาพยุโรป

แนวโน้มการผลิตไตรมาสที่ 1/56 การผลิตเส้นใยฯ จะสามารถขยายตัวได้ประมาณ 12% และผ้าผืน จะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดอาเซียนประมาณ 10% ในขณะที่เสื้อผ้าสำเร็จรูปอาจจะลดลงประมาณ 5% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกาชะลอตัว

อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตลดลงประมาณ 5.4% การส่งออกในภาพรวมลดลง 18.1% แนวโน้มไตรมาสที่ 1/56 การผลิตคาดว่าจะปรับตัวลดลง ประมาณ 4.7% เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศในสหภาพยุโรป จากปัญหาหนี้สาธารณะ แต่ผู้บริโภคยังมีกำลังซื้ออยู่ และปัญหาไม่น่าจะขยายตัวต่อไปยังตลาดนำเข้าอื่น ๆ มากนัก ประกอบกับสหรัฐอเมริกาได้มีการปรับขึ้นเพดานหนี้ที่สามารถกู้เงินได้เพิ่มขึ้นจะเป็นการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนการส่งออไตรมาสที่ 1/56 คาดว่าจะหดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 31.1% เนื่องจากระดับราคาน้ำตาลทรายปรับตัวลดลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ