ธปท.เผยม.ค.56 ส่งออกโต 15.6% นำเข้าโต 38.4% ขาดดุล 2.8 พันล้านดอลลาร์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 28, 2013 14:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจเดือนมกราคม 2556 ว่า ภาพรวมเติบโตจากการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งการบริโภคและการลงทุนที่ขยายตัวการท่องเที่ยวที่เติบโตดีต่อเนื่องและการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ดีการผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวเล็กน้อย

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดีอัตราเงินเฟ้อชะลอลงจากเดือนก่อน อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องและดุลการชำระเงินเกินดุล

สำหรับการส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามเศรษฐกิจโลกที่มีเสถียรภาพมากขึ้น โดยการส่งออกมีมูลค่า 17,924 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อยตามการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่กระเตื้องขึ้นในทุกหมวด โดยเฉพาะเหล็กและโลหะ ยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรขยายตัวตามการส่งออกข้าวและยางพารา การใช้จ่ายในประเทศที่ดีและการส่งออกสินค้าที่ทยอยฟื้นตัวส่งผลให้การนำเข้าเพิ่มขึ้น โดยการนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 20,745 ล้านดอลลาร์ และหากไม่รวมทองคำมีมูลค่า 18,035 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นตามการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ยานยนต์ วัตถุดิบและสินค้าชั้นกลาง

สำหรับภาคเกษตร รายได้เกษตรกรยังอยู่ในระดับสูง แม้จะหดตัวจากเดือนก่อนเพราะผลผลิตหดตัว โดยเฉพาะข้าวที่เกษตรกรเร่งเก็บเกี่ยวไปมากในช่วงก่อนหน้าจากความกังวลต่อสถานการณ์ภัยแล้ง ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรค่อนข้างทรงตัว

ภาคการท่องเที่ยวอยู่ในเกณฑ์ดี นักท่องเที่ยวต่างประเทศมีจำนวน 2.3 ล้านคน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เป็นสำคัญ

สำหรับการใช้จ่ายภาคเอกชนอยู่ในเกณฑ์ดี โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 2% จากเดือนก่อนหน้า ตามการใช้จ่ายในทุกองค์ประกอบ โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มขยายตัวสอดคล้องกับการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขยายตัวในทุกหมวดสินค้า และการใช้จ่ายในหมวดยานยนต์ที่อยู่ในระดับสูง

ส่วนดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 0.6% จากเดือนก่อนหน้า ตามการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขยายกำลังการผลิต และการลงทุนในภาคก่อสร้างที่อยู่ในเกณฑ์ดี

ภาครัฐ รายจ่ายรัฐบาลเพิ่มขึ้นจากรายจ่ายประเภทเงินโอนที่ให้แก่สถานการศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขณะที่รายจ่ายลงทุนชะลอลงเล็กน้อยหลังจากที่เร่งลงทุนไปในช่วงก่อนหน้า ส่วนรายได้เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการใช้จ่ายในประเทศที่อยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งภาษีที่เก็บจากฐานการบริโภค และภาษีจากฐานรายได้รายจ่ายที่เพิ่มขึ้นมากว่ารายได้ ส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลเงินสด 53.9 พันล้านบาท

ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 3.39% ชะลอลงจากเดือนก่อนตามราคาพลังงาน เนื่องจากฐานสูงในปีก่อนที่มีการกลับมาจัดเก็บเงินภาษีเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ชะลอลงมาอยู่ที่ 1.59% ตามราคาอาหารสำเร็จรูป อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องที่ 0.5% ขณะที่ดุลการชำระเงินเกินดุลจากการเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ และตราสารทุนภาคเอกชนของนักลงทุนต่างชาติเป็นสำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ